top of page

#เศรษฐา ย้ำ3แนวทางเวทีผู้นำเอเปค2023 "ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยง"..!!!!!

เชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)หัวข้อ “การสร้างเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นจากความเชื่อมโยง” (Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies) ณ ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ (Red Zone) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ 17พฤศจิกายน 2566

โดยนายกฯไทย ย้ำ 3 แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยง เชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข

(17 พฤศจิกายน 2566) เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม Moscone Center นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) ในหัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” พร้อมร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 โดยก่อนการกล่าวถ้อยแถลงของ นายกฯ (ลำดับที่ 18 ต่อจากจีนไทเป ก่อน ปธน. เวียดนาม) นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023

"..ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยวานนี้ ได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายกฯ เห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค 1. ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ จากโครงการมากกว่า 280 โครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ในขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge รวมถึงการจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ 2. เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมี WTO เป็นแกนกลางนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (the Thirteenth Ministerial Conference (MC13)) ซึ่ง ไทย ผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และ ไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดย ไทยกำลังเดินหน้าโครงการ Landbridge เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย" ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป



เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz-Carlton นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะกับชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาพบกับพี่น้องชาวไทยทุกคน ซึ่งตนเองเคยอยู่สถานะที่ใกล้เคียงกับทุกท่าน เป็นนักเรียนที่ซานฟรานด้วยเหมือนกัน เป็นนักเรียนที่นี่อยู่อเมริกามา 6 ปีเต็ม แต่อาจจะไม่โชคดีเหมือนทุกท่าน เพราะพยายามจะหางานทำ แต่ยังทำไม่ได้และไม่ได้เก่งมากจนบริษัทต้องการให้ทำงานที่นี้ จึงต้องกลับไปทำงานบริษัทฝรั่งที่เมืองไทย


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าลูกทั้งสองของตนเองก็ทำงานต่างประเทศ ซึ่งในฐานะผู้ปกครองอยากให้เขากลับไปใช้ชีวิตในเมืองไทยดีกว่า ยอมรับประเทศไทยไม่มีข้อเสนออะไรที่ดีกว่า ที่สามารถดึงดูดให้กำลังสำคัญของชาติกลับไปทำงานที่ประเทศไทย เราต้องช่วยกันเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สร้างขีดความสามารถของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่ตนเองได้เดินทางเข้าสู่ชีวิตการเมือง ทั้งนี้ ตั้งแต่รับหน้าที่มาสองเดือนกว่าได้เดินทางไปในหลาย ๆ ประเทศ ถือเป็นภารกิจของรัฐบาลแต่ละรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้มีหน้าที่ภารกิจหลักที่ต้องทำคือประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว ประเทศไทยพร้อมแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่ดีกว่าเวลานี้อีกแล้ว ที่จะมาลงทุนในประเทศ


นายกรัฐมนตรีแสดงความดีที่ได้พบปะกับคนไทยใสหรัฐอเมริกาอยากจะบอกว่าหลาย ๆ ท่านยังมีอายุน้อย และคงวางแผนอนาคตอยู่ว่าจะอยู่ที่นี้นานแค่ไหน แต่ถ้าประเทศไทยสามารถมีสิ่งที่ดีกว่า เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงต้องการกลับประเทศไทย ที่ผ่านมาได้เดินทางไปต่างประเทศ ได้พบปะนักธุรกิจบริษัทใหญ่ๆ มากมาย และเป็นหน้าที่ตนเองที่ต้องชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเยอะ การทำเกษตรกรรมไม่ใช่อาชีพที่ไม่มีเกียรติ แต่เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สามารถดึงดูดแรงงานดึงดูดพี่น้องคนไทยในต่างแดนให้กลับไปทำงาน จึงจำเป็นต้องยกระดับหลายๆ ส่วน


นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในช่วงสองเดือนที่ได้เดินทาง ส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลที่ผ่านมาที่ได้ปูทางไว้แล้ว ตนเองและรัฐบาลนี้ได้มาสานต่อ โดยมีทีมงานที่แข็งแกร่งได้ทำงานกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ กระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ซึ่งมีข้าราชการที่มีความสามารถ และมีความปรารถนาดีกับประเทศมาช่วยกันทำงาน ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เช่น บริษัทอเมซอน Google และ Facebook รวมถึงบริษัทนักลงทุนจากประเทศจีนก็มีความสนใจมาลงทุนบริษัทรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะมีการลงทุนอย่างแน่นอน


นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การเดินเข้าสู่เวทีการเมือง สิ่งที่ต้องการทำคือ ต้องการยกระดับความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลาง ต้องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ แต่ไม่ได้ดึงศักยภาพที่มีของทั้งประเทศมาใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา การพัฒนาพัฒนาบุคลากร และระบบภูมิศาสตร์ ซึ่งเราตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในสถานการณ์ความขัดแย้ง รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน คือ มีความเป็นกลาง ต้องการยืนอยู่ในความขัดแย้งอย่างมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี ยึดมั่นกับความสงบ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่บนความขัดแย้ง ย่อมมีโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์.


อนึ่ง ชุมชนไทยในสหรัฐฯ ถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีจำนวนคนไทยประมาณ 3 แสนคน ส่วนใหญ่พำนักอยู่ในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชุมชนไทยจำนวนประมาณ 7 หมื่นคน โดยอาศัยอยู่บริเวณซานฟรานซิสโก และเขตเบย์แอเรียอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ นครลอสแอนเจลิสยังเป็นที่ตั้งของ “ไทยทาวน์” แห่งแรกของโลกอีกด้วย โดยการพบปะกับชาวไทยในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี มีคนไทยในสหรัฐฯ เข้าร่วมประมาณ 150-200 คน

Comentarios


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page