top of page

เอกชนจี้รัฐ! เร่งคลอด กม.โลกร้อน – กรมอุทยานฯเชื่อม ‘เอกชน-ชาวบ้าน’ ค้าคาร์บอนเครดิต

สิ่งแวดล้อม-Carbon neutrality

เผย! เป็นเอกชนที่เร่งภาครัฐคลอด “กฎหมายโลกร้อน” หวังเตรียมการก่อนโลกเข้าสู่ภาวะสงครามการค้าที่อิงสิ่งแวดล้อม คาดออกกฎหมายใช้งานจริงในรัฐบาลสมัยหน้า ด้าน “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ประกาศพร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมชาวบ้านกับเอกชน สร้างรายได้จากการค้าคาร์บอนเครดิตในชุมชนทั่วไทย

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวแนวทางการดำเนินงานในส่วนของกรมฯที่เกี่ยวข้องกับอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดปัญหาโลกร้อน ว่า กรมฯได้วางบทบาทการเป็นคนกลางประสานความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาคเอกชนในการปลูกป่ารองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังจะเป็นกฎหมายภาคบังคับให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เป็นจำนวนมาก กระทั่ง ก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกตามมา เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฯลฯ จะต้องรับผิดชอบกับดำเนินงานของตน ทั้งนี้ ไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชมที่มีส่วนกับการลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์


“เมื่อรัฐบาลสามารถออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โลกร้อน (ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) จนแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ สิ่งนี้จะถือเป็นภาคบังคับให้เอกชนรายใหญ่ เช่น ปตท. เอสซีจี และอีกหลายบริษัท จะต้องดำเนินการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไดออกไซค์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงถือเป็นอีกช่องทางสำคัญในการเข้ามาแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯของเอกชนรายใหญ่ ที่ไม่สามารถจัดการกับกระบวนการผลิตของตัวเองในระดับที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งนั่นจะนำมาสู่การสร้างธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า หรือการสร้างกิจกรรมด้านการเกษตรที่มีผลต่อการลดปัญหาโลกร้อน สามารถตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครบถ้วน” อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุ


ทั้งนี้ แม้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศจะยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในต่างประเทศ พบว่ามีอัตราที่ค่อนข้างสูงในระดับหลายพันบาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ประเทศไทยระดับราคาซื้อขายอาจไม่สูงเท่าใด แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และอาจจะขยับราคามาอยู่ที่ระดับหลายร้อยบาทถึงพันบาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยในอนาคตเชื่อว่าระดับราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปัจจุบัน โดยขณะนี้ มีหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ได้มีการออกเหรียญโทเค่น (คริปโตเคอเรนซี่) เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันแล้ว และในอนาคต เชื่อว่าประเทศไทยก็คงจะมีการออกเหรียญโทเค่นเพื่อการนี้เช่นกัน เนื่องจากขณะนี้ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มสนใจเข้ามาศึกษาและทำการค้าคาร์บอนเครดิตกันบ้างแล้ว


สำหรับ ความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้น อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า หลังจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ นับแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปทาง สำนักงานกฤษฎีกา จะเข้ามาดูในรายละเอียดของข้อกฎหมาย (มี 8 มาตรา และ 1 บทเฉพาะกาล) จากนั้น รัฐบาลก็จะนำร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการจัดตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จ กระทั่งสามารถจะประกาศบังคับใช้ในรัฐบาลสมัยหน้า


“ขณะนี้ กลายเป็นภาคเอกชนที่ก่อนหน้านี้เคยเพิกเฉยต่อกฎหมายโลกร้อนฉบับนี้ แต่หลังจากที่ได้รับรู้ถึงข้อมูลและสถานการณ์ความเป็นไปในระดับโลก ที่อาจถูกนำมาใช้เป็นข้อบังคับทางการค้าระหว่างประเทศ (การกีดกันทางการค้า) ทำให้ภาคเอกชนต่างเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดในการออกกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะเอกชนต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไปแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจการของตน หรืออาจต้องการเป็นตัวกลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยและในระดับนานาชาติ” นายอรรถพล กล่าวและว่า จากนี้ไป แนวโน้มภาคการผลิตและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ จะต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศ จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม.

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page