เพื่อส่งเสริมอาชีพและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 20 ปี จับมือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม” มุ่งถ่ายทอดผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ตลอดจนประยุกต์ใช้งานวิจัยด้านป่าไม้ เพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่ามีภารกิจสำคัญด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยตั้งต้นของพลังงานและสิ่งมีชีวิตทั้งหมด บนหลักการที่ว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้” มูลนิธิฯ จึงมีบทบาทในการร่วมผลักดันและส่งเสริมความเข้มแข็งและสร้างอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนใช้ประโยชน์ ช่วยดูแลรักษา และอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ไม่เกิดการทำลายหรือเผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทย
“ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 หน่วยงาน มูลนิธิไทยรักษ์ป่าเปรียบเสมือน “โซ่ข้อกลาง” ที่ช่วยประสานและผลักดันผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เกิดการประยุกต์ใช้จริงในท้องถิ่น เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาการเผาป่า รวมถึงใช้งานวิจัยด้านป่าไม้ของ วว. มาสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ตามหลักการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “วว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับเอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำ สนับสนุนงานวิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม วว. ยินดีที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ และถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมหรือ BCG โมเดล”
ทั้งนี้ ในปี 2563-2564 มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ วว. ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยี “การเพาะเชื้อเห็ดป่าไมโครไรซา” ไปขับเคลื่อนการพัฒนาป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงการเครือข่ายเยาวชนไทยรักษ์ป่า จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 โรงเรียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเพาะเชื้อเห็ดป่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลสร้างพื้นที่สีเขียว ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดการเก็บเห็ดป่าโดยใช้วิธีการเผาทำลายป่าไม้ และปัญหาหมอกควันในอนาคต และยังได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาลูกประ หรือลูกกระ ซึ่งเป็นเมล็ดของต้นประ ไม้ยืนต้นที่พบได้ในพื้นที่ทางใต้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่บ้านในหมง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนอยู่ร่วมกับป่าเพื่อสร้างรายได้ เสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี
อนึ่ง มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เป็นองค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อดำเนินภารกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ มาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีภารกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ควบคู่กับพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนให้ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้” ผ่านโครงการ “หมู่บ้านไทยรักษ์ป่า” การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชน ผ่าน “เครือข่ายชุมชนไทยรักษ์ป่า” ในหลายพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการปลูกจิตสำนึกเยาวชนและประชาชน ผ่าน “โครงการเครือข่ายเยาวชนไทยรักษ์ป่า” และ “โครงการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ” มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วมจำนวน 100,000 ไร่ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและปรับระบบเกษตร 5,000 ไร่ ใน 3 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ต่อไป
Comentarios