โดย รศ.ดร. มูซาฮิด มุสตาฟา เบย์รัก (Mucahid Mustafa Bayrak) จากมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (NTNU) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล APSAA ประจำปี 2566
"ทุกวันนี้ โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความยั่งยืนนานัปการในระดับโลก เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป การล่มสลายของระบบนิเวศ สงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติทางเพศ การเหยียดเชื้อชาติ วิกฤตผู้อพยพ และอีกมากมาย มนุษยชาติจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีแก้ไข ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าผลกระทบของปัญหาเหล่านี้มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในแง่ของผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาและผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทข้ามชาติ ควรให้ความสำคัญกับความท้าทายด้านความยั่งยืนเหล่านี้เป็นพิเศษทั้งภายในและภายนอกองค์กร ด้วยเหตุนี้ สถาบันไต้หวันเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน (Taiwan Institute for Sustainable Energy หรือ TAISE) จึงจัดพิธีมอบรางวัลเอเชีย-แปซิฟิก ซัสเทนอะบิลิตี แอ็กชัน อวอร์ดส์ (Asia-Pacific Sustainability Action Awards หรือ APSAA) ที่ไทเป ไต้หวัน เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของตนเองโดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่เพียงได้รับการยอมรับจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการยอมรับแง่มุมและมิติต่าง ๆ ของความยั่งยืนอีกด้วย นอกจากนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังตระหนักว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีบทบาทหลากหลายกลุ่ม ดังนั้นการแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้นอีกต่อไป เราทุกคนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด
บริษัทต่าง ๆ สามารถมีบทบาทที่มีคุณค่าในการจำกัดผลกระทบเชิงลบของตนเอง ตลอดจนคิดค้นวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์และครอบคลุม ไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือสังคมก็ตาม โดยในกระบวนการตัดสินรางวัล APSAA ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล เราได้เห็นความคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยมมากมายจากบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน ทว่าเรายังสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะ ด้วยเหตุนี้ เราจึงสนับสนุนให้บริษัททั่วโลกใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ของตนเอง และถามตัวเองว่า เรามีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง และถ้าเป็นเช่นนั้น เรามีส่วนอย่างไร เราตั้งตารอที่จะเรียนรู้จากความคิดริเริ่มของคุณ และเราจะร่วมกันต่อสู้เพื่อโลกที่มีสุขภาพดีขึ้น ประชาคมโลกที่มีความเท่าเทียมกันและสงบสุขมากขึ้น และภาคเอกชนที่มี "กำไร" เท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่ในส่วนของผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วย.."
Comments