top of page

“แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง”มหาดไทยkick offนำผู้ว่าฯลุ่มน้ำเจ้าพระยาสนองพระราโชบาย “แก้ไขในสิ่งที่ผิด"

ถกแนวทางคืนความสะอาดให้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน


SDGs

วันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ณ ห้อง War Room ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม kick off กิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวอโรชา นันทมนตรี นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชูโชค ศิวะคุณากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ร่วมประชุม

โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับ

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี

นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท

นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี

นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ

และนายปรีชา ดิลกพรเมธี ปลัดจังหวัดสิงห์บุรี ผู้แทนกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์ ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทย โดยทรงห่วงใยและตระหนักถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยเพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะเห็นความวัฒนาผาสุกของประชาชนชาวไทยและความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง จึงทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เกิดความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ดังพระราชประสงค์จำนงหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านต่าง ๆ หากพื้นที่ใดที่ประชาชนประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ก็จะพระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาอย่างทันท่วงที และได้พระราชทานพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 แก่ข้าราชบริพาร ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระบรมราโชบาย “แก้ไขในสิ่งผิด” สู่การขับเคลื่อนการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้สะอาด เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน ผ่านโครงการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำ คูคลอง เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งทำให้แหล่งน้ำในพื้นที่ 76 จังหวัดกลับมาใสสะอาด และมีการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข และส่งผลทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมช่วยกัน Change for Good แก่ประเทศชาติของเราไปในตัวด้วย โดยการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด คัดเลือกแม่น้ำลำคลองในพื้นที่จังหวัดละ 1 แหล่งน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา และคัดเลือกเป็นเป้าหมายดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งนับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 ปี มีแม่น้ำลำคลองที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว 152 สาย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำแนวพระราชดำริ “แก้ไขในสิ่งผิด” สู่การขยายผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็น “สายน้ำแห่งชีวิต” หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการประชุม kick off กิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีโอกาสร่วมกับคณะทำงานฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำสำคัญในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กลุ่มบริษัทเมืองไทยประกันภัย กลุ่มบริษัท ไทยเวฟเวอเรจ กลุ่มเซ็นทรัล สยามคูโบต้า และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือผลักดันทำให้ภาคราชการสามารถทำงานได้โดยคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

“สำหรับกิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” ที่กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 9 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สิงห์บุรี และจังหวัดอุทัยธานี Kick off ในครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยคณะทำงานกิจกรรมแม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ จะร่วมกันลงเรือเพื่อสำรวจสิ่งที่ผิดพลาดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความตั้งใจของพวกเราทุกคนจนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น “แหล่งรวมความสกปรก” เริ่มลงเรือจากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากน้ำ คือ จังหวัดสมุทรปราการ โดยตลอดทั้งวัน คณะทำงานฯ อันประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร CPAC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เก็บข้อมูลทั้งในด้านคุณภาพน้ำ สภาพภูมิทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ และขณะเดียวกัน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานของจังหวัดลงเรือสำรวจ 2 ชายฝั่งและตลอดลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ โดยบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้งมุมสูง และแนวราบ เพื่อนำมาผนวกกับชุดข้อมูลของคณะทำงานจากส่วนกลางเพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนร่วมกันทั้งจากมุมมองของพื้นที่และมุมมองของส่วนกลาง นำไปสู่การจัดทำ “แผนแม่บทการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาฉบับสมบูรณ์” โดยมีหลักคิดที่สำคัญว่า “จะทำอย่างไรให้เส้นเลือดหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความศิวิไลซ์ให้ได้ โดยเฉพาะเรื่อง “ความน่ามอง” และ “ปราศจากขยะ” ทั้งขยะจากวัชพืชทั้งหลาย โดยเฉพาะผักตบชวา และขยะจากการใช้สอย ทั้งจากครัวเรือนและการสัญจรไปมาของประชาชน และขยะจากนักท่องเที่ยว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า การ Kick off ดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และคำนึงถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” โดยน้อมนำตัวอย่างความสำเร็จตามแนวพระราชดำริที่สำคัญ คือ “คลองเปรมประชากร” ที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นตึกรามบ้านช่องสีสันสวยงาม มีริมคลอง มีพื้นที่เป็นเส้นทางเดิน สัญจรได้สะดวก และน้ำก็มีคุณภาพ อันเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยทหาร และความร่วมมือของประชาชนในแต่ละชุมชน โดยมีความรู้สึกของเยาวชนคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชนที่ได้รับสิ่งที่ดีจากแนวพระราชดำริที่น่าสนใจ โดยเยาวชนคนนั้นได้กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกของชีวิตที่เขากล้าชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียน ไปเที่ยวที่บ้านเขา” เพราะแต่เดิมบ้านของเขามีแต่ความสกปรก บุกรุกลำน้ำ น้ำเน่าเสีย แต่ด้วยพระราชดำริ ทำให้เขาและครอบครัวมีสิ่งที่ดีของชีวิต จึงมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนจริง ๆ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในปี 2567 จะเป็นปีที่ 3 ที่ชาวมหาดไทยและพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองเนื่องในวาระมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการปฏิบัติบูชา ดังนั้น จังหวัดริมเจ้าพระยา มีเป้าหมายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก และอีก 67 จังหวัด ก็จะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ที่จะทำให้มีสภาวะแวดล้อมที่ดีในเรื่องของแหล่งน้ำเพิ่มเติมขึ้นมา โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำโอกาสที่ดีของชีวิตในครั้งนี้ ทำสิ่งที่ดีสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย คือ การถวายของขวัญแด่พระองค์ท่าน ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความสุข มี “แม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นจุดเริ่มต้น และแม่น้ำอื่นอีก 22 ลุ่มน้ำ รวมทั้งลำน้ำสาขาในแต่ละจังหวัด โดยการปลุกพลังนายอำเภอ และทีมงานของอำเภอ อันประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี และประชาชนจิตอาสา อาสาสมัครต่าง ๆ ส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชน โดยการนำแนวทางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ระดมสรรพกำลังเชิญชวนประชาชนผู้มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปร่วมกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดูแลรักษาแหล่งน้ำให้มีความสะอาด นอกจากนี้ ในเชิงระบบหรือกฎหมาย กรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดทำเทศบัญญัติเป็นกฎระเบียบสำหรับผู้ที่จะขออนุญาตปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้านเพื่อดักไขมัน กรองของเสีย ก่อนปล่อยน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมลงไปสู่แม่น้ำลำคลองอีกด้วย จึงขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันใส่ใจการขับเคลื่อน “แก้ไขในสิ่งผิด” ฟื้นคืนแม่น้ำลำคลองให้มีความสะอาด สวยงาม เหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่ ที่พักอาศัยของสรรพสัตว์ พืชพันธุ์ทั้งหลาย และมนุษย์ทุกคน ทำให้ประเทศไทยของพวกเราทุกคน และโลกใบเดียวนี้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืน

“แนวพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เป็นเพียงการปรับปรุงคูคลองให้กลับมาสวยงาม แต่ยังรวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน เส้นทางคมนาคมสัญจร หรือประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วม และเหนืออื่นใด คือการสร้างสังคมที่น่าอยู่ เข้มแข็ง และปลอดภัย อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page