Clean Energy / Green Energy ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถรองรับได้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวที่บิดเบือนไม่ตรงกับความจริงว่า Google, Microsoft และ Tesla ต้องการให้รัฐบาลลดราคาค่าไฟฟ้าก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ทั้งสามบริษัทไม่เคยมีการหารือเพื่อให้ลดค่าไฟฟ้า จุดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด คือประเทศที่เขาจะเข้าไปลงทุนจะต้องมีไฟฟ้าสะอาด Clean Energy / Green Energy ให้เพียงพอต่อการผลิต ด้วยปัญหา Climate Change/Global Warming เป็นประเด็นที่ทุนใหญ่ต่างให้ความสำคัญ และรัฐบาลไทยได้แสดงออกถึงความจริงใจในการส่งเสริมพลังงานสะอาดด้วย Project จัดหาไฟฟ้าสะอาด เช่น Floating solar Cells บนผืนน้ำบริเวณเหนือเขื่อนทั่วประเทศซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะป้อนพลังงานไฟฟ้าได้รวมๆ กันสูงกว่า 10,000 เมกกะวัตต์ รวมถึงโครงการที่จะสั่งซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว 400 เมกกะวัตต์ เป็นต้น “รัฐบาลไทยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายของโลกที่รัฐบาลไทยห่วงกังวล และให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกเช่นกัน อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีแนวทางการทำงานที่ทันสมัย ทันโลก ทันกระแสและความต้องการของโลกปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่ามีบริษัทฯ ที่สนใจลงทุนในไทยจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่จากทั่วโลก เพื่อกลับมาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และชีวิตของพี่น้องคนไทยทุกคน”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงกรณี S&P Global Ratings (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเข้มแข็งทางการคลังของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 2.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2567 โดยเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการทางการคลังของรัฐบาล และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2566 – 2569 และสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ย คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปี 2567 – 2569 ตลอดจนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ S&P ยังให้ความสำคัญต่อหนี้ภาครัฐบาลสุทธิ (Net General Government Debt) ของไทย ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ประกอบกับไทยมีภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงเกินดุลตั้งแต่ปี 2567 - 2569 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
“การดำเนินนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกอย่าง S&P รวมถึง Fitch Rating ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือและมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ สะท้อนความสำเร็จก้าวแรกของรัฐบาล และเป็นเครื่องการันตีว่าแนวความคิดการทำงานของรัฐบาลได้ดำเนินมาอย่างถูกทางแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในรัฐบาล ที่ตั้งมั่นกับการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุนให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายชัย กล่าว
Comments