top of page

ใครครองแร่ ผู้นั้นครอง EV !!!

CLOSE-UP FORUM


ใครครองแร่ ผู้นั้นครอง EV

.

สำหรับประเทศไทย ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแบบเนิบๆ แต่สำหรับยักษ์ใหญ่ของโลกแล้ว เวทีนี้กำลังแย่งชิงพื้นที่กันมันหยด แต่ก็ไม่มีประเทศไหนแซงจีนไปได้ ยอดการขายพุ่งสูงสุดในโลกอยู่ที่ 3.4 ล้านคันในปีที่แล้ว ยุโรปเมืองแห่งการรักษ์โลกว่าแน่ยังเป็นอันดับสอง 2.3 ล้านคัน จากยอดขายทั่วโลกในปีนั้นรวม 6.6 ล้านคันเท่ากับจีนดึงยอดขาย EV ไปครึ่งหนึ่งของโลก

.

ไม่เท่านั้นตอนนี้จีนกำลังคืบคลานไปทั่วทุกหัวระแหงของโลกที่เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ หัวใจของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งก็มี ลิเธียม (Lithium) โคบอล์ท (Cobalt) นิกเกิล (Nickel) แมงกานีส (Manganese) ผสมกันมากน้อยแล้วแต่สูตรการผลิตของใครของมัน

.

“ลิเธียม” วัตถุดิบหลัก แหล่งใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ออสเตรเลีย จีนได้เข้าไปควบคุมตลอดซัพพลายเชนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นที่ทราบว่าแม้ลิเธียมจะอยู่ในหลายๆ ส่วนของโลก แต่การนำขึ้นมาแสนยากและต้นทุนสูง ขณะที่ความต้องการก็พุ่งเอาๆ อยู่ที่ 317,500 ตันเมื่อปี 2563 มีการคาดว่าความต้องการจะเพิ่มถึง 6 เท่าในปี 2573 ส่วนราคาก็สูงตามชัดเจนเมื่อปีที่แล้ว จากความต้องการใช้ของจีนเป็นหลัก

.

ส่วนโคบอลท์ บริษัทของจีนได้เข้าไปประกอบกิจการเหมืองโคบอลท์เป็นส่วนใหญ่ในสาธารณรัฐคองโก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งป้อนโคบอลท์ใหญ่ที่สุด มาดูนิกเกิลแหล่งใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย ผลิตออกมา 1 ล้านตันในปีที่ผ่านมา และที่นี่เป็นจุดใหญ่ในการป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV ส่วนเหมืองใหญ่อื่นๆ อยู่ในฟิลิปปินส์ รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และบราซิล แน่นอนบริษัทเหมืองของจีนประกาศปาวๆ จะลงทุนเหมืองนิกเกิลหลายโปรเจกต์ในอินโดนีเซีย

.

ขณะที่สหรัฐและประเทศอื่นๆ กำลังมองหาเหมืองและแหล่งผลิตวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในประเทศของตนเอง หลีกเลี่ยงผลกระทบราคาวัตถุดิบในตลาดที่กำลังปรับขึ้น เรื่องนี้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายว่ามีหลายโปรแกรมช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เป็นรูปธรรมด้วย “เราไม่สามารถสร้างอนาคตที่ผลิตในอเมริกาได้ หากเราต้องพึ่งพาจีน และนี่ไม่ใช่การต่อต้านจีน หรือต่อต้านสิ่งใด แต่เป็นโปรอเมริกา” ไบเดน บอกอย่างนั้น

.

การที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ต้องลงมาเล่นด้วยนั้น ก็เพราะ EV คงจะมากินส่วนแบ่งรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเร็วเกินคาด เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันทะยานไม่หยุดขณะที่สหรัฐไม่มีขุมกำลังแหล่งวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ในมือเท่าไหร่นัก ส่วนราคาลิเธียมก็ถีบตัวขึ้นทุกวันราว 550% ในหนึ่งปี ต้นปีนี้ราคาลิเธียมคาร์บอเนตทะลุ 75,000 ดอลลาร์ต่อตัน และราคาลิเธียมไฮดรอกไซด์ทะลุ 65,000 ดอลลาร์ต่อตัน สูงเอามากๆ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยห้าปีที่อยู่ที่ 14,500 ดอลลาร์ต่อตัน

.

ตอนนี้ในสหรัฐมีเหมืองลิเธียมเพียงแห่งเดียวในที่ดำเนินงานอยู่ ส่วนโปรเจกต์ใหม่กำลังถูกพัฒนาขึ้นที่เนวาดา เมน ตอนเหนือของแคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย โดยนำเทคโนโลยีพลังความร้อนใต้พิภพมาใช้ในการพัฒนาเหมือนกับอีกหลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน เช่น สหราชอาณาจักรที่มีโปรเจกต์พัฒนาเหมืองลิเธียมทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ถือว่าเป็นโปรเจกต์สำคัญเลยทีเดียวสำหรับอังกฤษในการผลิตลิเธียมป้อนอุตสาหกรรม EV ส่วนเยอรมนีกำลังจับมือกับนักลงทุนออสเตรเลียที่จะนำพลังความร้อนใต้พิภพนำลิเธียมขึ้นมาใช้ในพื้นที่ที่เรียกว่า “Black Forest” หรือป่าดำ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มีการประมาณการณ์ว่ามีปริมาณเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดรถ EV ได้ถึง 400 ล้านคัน

.

ทำไมต้องเร่งลงทุนกันขนาดนั้น McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ออกมาตอกย้ำ โดยคาดการณ์ว่าในทศวรรษหน้า ลิเธียมจะมีความต้องการใช้สูงขึ้นแน่นอน ปัจจัยขับเคลื่อนหลักก็คือ EV มีการประเมินว่าลิเธียมจะเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV ราว 95% ในปีพ.ศ.2573 และจะเพิ่มขึ้นทุกปี 25-26% หรือความต้องการจะไปถึง 3.3-3.8 ล้านตัน จากเมื่อ 15 ปีก่อน ในปี พ.ศ.2558 ลิเธียมถูกใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกแก้ว จาระบี และอุตสาหกรรมอื่นๆ

.

แต่เท่าที่มีการประเมิน พ.ศ.2573 จะมีลิเธียมป้อนตลาดน้อยกว่าความต้องการหรือราว 2.7 ล้านตันเท่านั้น การหาแหล่งใหม่ หรือพัฒนาจากแหล่งเดิมจึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรม EV ซึ่งปัจจุบันการขุดลิเธียมเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในออสเตรเลีย ลาตินอเมริกาและจีน คิดเป็น 98% ของการผลิตรวมกันในปี พ.ศ.2563 การก้าวเข้าสู่ยุคของ EV จึงเป็นความท้าทายของหลายๆ ประเทศ เพื่อพ้นจากการครอบงำตลาดของจีน

.

การหาแหล่งวัตถุดิบป้อนแบตเตอรี่ เป็นหัวใจสำคัญ จึงมีการพูดถึงแหล่งผลิตลิเธียมใหม่ๆ ในประเทศอื่นๆ ที่ปลอดจากเงาของจีน อาทิ อาร์เจนตินา แหล่งผลิตที่มีชื่อเสียง รวมถึง เม็กซิโก แคนาดา โบลิเวีย สหรัฐ ยูเครน หรือแม้แต่ประเทศที่มีศักยภาพในการสกัดลิเธียมจากน้ำเกลือ หรือบ่อน้ำมัน ด้วยพลังความร้อนใต้พิภพ แม้แต่ไทยก็ทำได้ ดังนั้น EV ที่ว่ามาแน่ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน ทั้งได้ชื่อว่าไทยสนับสนุนพลังงานสะอาด ช่วยลดโลกร้อน แต่จะมาอย่างไรให้เรา ไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภค แต่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ

.

… การไม่มีแหล่งแร่ธาตุขนาดใหญ่ไว้ขุดมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะด้อยกว่า ไม่สามารถเกิดอุตสาหกรรม EV ต้นน้ำในประเทศได้ เพราะเชื่อว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่แทนแร่ธาตุทั้ง 4 โจทย์ใหญ่อยู่ที่การหาพันธมิตร และการค้นคว้าหานวัตกรรม เพื่อให้เราก้าวผ่านขีดจำกัดทั้งปวง ...ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้

.

ที่มา


บทความโดย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page