“ในระบบของทหารไม่มีคำว่า dialog”
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับเชิญไปร่วมเสวนาในงาน
“สนทนา 30 ปี ทีดีอาร์ไอ : สังคมเศรษฐกิจไทย : ความท้าทายและการปฏิรูป”
ซึ่งเป็นงานสัมมนาทางวิชาการประจำปีของสถาบันทีดีอาร์ไอ ในปี 2557 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 มีบุคคลสำคัญ และนักคิด นักบริหารเข้าร่วมจำนวนมาก มีเนื้อหาน่าสนใจหลายประเด็น ลองไปติดตามรายละเอียดการบรรยายทั้งหมดพร้อมๆกัน
“ ย้อนไป 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยที่ดีขึ้นก็มี ที่เลวลงก็มีมาก แต่ทุกสังคม ทุกประเทศ สิ่งที่ควรจะต้องจดจำ ก็คือ เราควรจะมีความภาคภูมิใจในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรือความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ต้องจดจำสิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่เราผิดพลาดไป แต่ในการดำรงชีวิตส่วนตัวก็ดี การดำรงชีวิตในองค์กร หรือประเทศชาติก็ดี เราอย่าปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีในอดีตมาผูกมัดเรา จนกระทั่งไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้
บทเรียนสำคัญที่เราควรเรียนรู้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คือ คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะทุกประเทศทุกสังคม ถ้าพลเมืองไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตัวเอง ไม่เรียนรู้สิ่งที่ดีงามหรือสิ่งที่ผิดพลาดไป สิ่งที่ผิดพลาดก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก
แต่คนไทยความจำสั้น ลืมง่าย!
แต่การที่ความจำสั้นและลืมง่ายก็ไม่ได้เป็นของเสียทั้ง 100% แต่ถ้าเราความจำสั้นแล้วลืมง่าย จะทำให้เรารู้สึกว่าทุกๆ 5 ปี 10 ปี เราต้องจัดการความผิดพลาดในอดีต เพราะเราไม่เคยมีบทเรียนจากสิ่งที่เราผิดพลาด หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตผม ที่ทำความปวดร้าว หรือทำความผิดหวังให้กับผมในชีวิตส่วนตัว ผมไม่ลืมนะ แต่ผมจะไม่เอาสิ่งเหล่านั้นมาผูกมัดจนกระทั่งไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้น ชีวิตแต่ละชีวิต หรือชีวิตแต่ละสังคมต้องมองไปสู่อนาคตมากกว่า แล้วหลายสิ่งหลายอย่างต้องมองในเรื่องโพสิทีฟมากกว่า เพราะวันนี้ ทุกอย่างมองเป็นเนกาทีฟหมด เราทำอะไรไม่ได้ การปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ระบบประกันสังคม การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ พูดกันมาในสังคมไทยเป็นเวลาหลายสิบปี ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ผมรู้สึกว่าพูดเรื่องพวกนี้ควรพูดพอประมาณ แต่สิ่งที่เมืองไทยขาด คือ ผู้ทำ สุดท้ายเมื่อชูประเด็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทีดีอาร์ไอหรือสถาบันใด บอกว่าน่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้ แต่ที่เมืองไทยขาดคือ ไม่มีคนทำ หรือมีคนทำก็ทำไม่เป็น ผมมองว่าเราจะแก้ไขประเด็นเหล่านี้หรือจะผ่านพ้นเรื่องพวกนี้ไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น อยู่ที่การบริหาร หลายครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร สุดท้ายตกม้าตาย เพราะจัดการไม่เป็น
ในประสบการณ์ของผม คนเราแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
พวกหนึ่งเป็นพวกพูด อีกพวกหนึ่งเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งเราขาดคนพวกนี้มาก การทำให้เป็น สอนกันไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนจบการบริหารจัดการแล้วจะจัดการเป็น ต้องสั่งสมจากประสบการณ์ ในทางวิชาการก็ต้องมีพอประมาณ ถ้าจะเป็นผู้จัดการที่ดี เป็นนักบริหารแผน อาจจะมีประเด็น รู้วิธีการแก้ไข แต่ถ้าบริหารไม่เป็นก็ไม่ไปไหน ฉะนั้น การจัดการและต้องมีความรู้ทางวิชาการพอสมควร และมีประสบการณ์ค่อนข้างจะมาก ประสบการณ์ในที่นี้ ควรจะต้องผ่านงาน นักการเมืองไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่อ่อนเรื่องการจัดการ ที่อังกฤษ อเมริกา ที่หลายแห่ง เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขณะนี้นักการเมือง เป็นนักการเมืองอาชีพทั้งนั้น ไม่เคยทำงานอื่นใดมาก่อนเลย อย่างอังกฤษ 70 - 80 ปีก่อน นักการเมืองเคยทำงานเป็น สต๊อกโบรกเกอร์ อาจจะเป็นผู้จัดการ อาจจะเป็นซีอีโอบริษัทต่างๆ แต่ปัจจุบันเป็นอาชีพ ฉะนั้น นักการเมืองก็ไม่ได้ผ่านการบริหารที่ดี แต่ถ้าไม่เอาคนที่เป็นนักการเมือง สมมุติเป็นเทคโนแครต แต่ถ้าเทคโนแครตไม่เคยผ่านชีวิตของการทำงานในภาคเอกชนเลย ก็ตกม้าตายเหมือนกัน ถามว่า เมื่อทหารเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาก่อน ประสบการณ์พอหรือไม่?
ทหารยิ่งมีข้อจำกัดมาก เพราะชินกับสายการบังคับบัญชา ทหารมีข้อจำกัดมาก เพราะว่าวิธีการทหารคือวิธีสั่งอย่างเดียว ฉะนั้น บทสนทนา (dialog) ไม่มี มีแต่ข้างบนกับข้างล่าง ข้างบนสั่ง ข้างล่างทำ แต่ในปัจจุบันก็เป็นไปได้ ที่กองทัพไทยมีโอกาสหรือมีสิทธิที่จะพูดมากขึ้น แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าข้างบนเขาสั่งว่าอย่างไร
ในระบบของทหารไม่มีคำว่า dialog !
แม้แต่การบริหารภาคเอกชน อำนาจก็อยู่ที่เบอร์ 1 เบอร์ 2 แต่ในทางการเมือง ต้องลืมเรื่องเบอร์ 1 เบอร์ 2 การบริหารราชการการแผ่นดินที่ดีต้องฟังเสียงจากทุกระดับ
สิ่งที่เราขาดคือ ฟังไม่ค่อยเป็น! ผมชอบยกตัวอย่างว่า มีคนพูดเป็นเรื่องตลกว่า ทำไมพระเจ้าถึงสร้างให้มีปากเดียว 2 หู เพราะพระเจ้าต้องการคนฟังมากกว่าคนพูด หรือมีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงความจำเป็นของการฟัง บางคนฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่องก็ลำบาก หรือฟังแล้วทัศนคติของเขาไม่เข้าใจลึกซึ้ง เพราะถ้าเราบอกว่าต้องฟัง ในเซนต์ภาษาอังกฤษคำว่า dialog ไม่ใช่ว่าคุณมาคุยแล้วคาดคั้นเอาคำตอบจากผม หรือผมคาดคั้นคำตอบจากคุณ แบบนั้นไม่มีทาง เพราะทุกอย่างต้องมีการอะลุ่มอล่วย ผมไม่อยากใช้คำว่าต่อรองนะ แต่มันต้องมี flexibility หรือความยืดหยุ่น
ถ้าเผื่อนั่งคุยกันจริงจัง ส่วนตัวผม ผมว่าผมโชคดี ที่เวลาผมคุยกับใคร ผมไม่ค่อยสนใจว่าวิธีคิดของเขาตรงกับผมหรือไม่ ไม่มานั่งคิดมากว่าเขาถูกหรือผมถูก แต่ผมจะมองว่าสิ่งที่เขาพูดกับผมข้อเท็จจริงถูกต้องหรือเปล่า และหลังจากข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว วิธีวิเคราะห์เขาเป็นอย่างไร ผมไม่มองวิธีวิเคราะห์เขาผิดหรือถูก หลายครั้งหลายคราวที่คำตอบของเขาอาจไม่ตรงกับผม แต่ผมได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขาตอบ แล้วสามารถนำมาปรับปรุงสิ่งที่ผมคิดและทำให้ดีขึ้นได้
ฉะนั้น เวลาเราคุยกับคน ไม่ใช่เรื่องเอาตายหรือเอาผิดเอาถูก หรือเอาชนะกัน! ถามว่า 6 เดือนผ่านไปของ คสช. ยังเอาใจช่วยหรือยังเห็นใจตามที่เคยบอกอยู่ไหม หรือประเมินการทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
รัฐบาลชุดไหนก็ตาม ผมเอาใจช่วยทั้งนั้น เพราะว่าผมไม่มีสิทธิ์ หรือไม่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบที่จะมามานั่งวินิจฉัยว่าใครมาผิดมาถูก ที่มาที่ไปเขาเป็นยังไง โดยจิตใจผมเอาใจช่วยทุกรัฐบาล ที่ผ่านมาผมสามารถพูดกับทุกรัฐบาลได้ ฟังไม่ฟังอีกเรื่องหนึ่ง
คณะทหารชุดนี้ไม่ค่อยรู้จักส่วนตัว แต่พบกันตามงาน ก็เคารพนับถือซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้เคยคุยกันอย่างจริงจัง ตอนแรกผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่สบายใจที่อย่างน้อย โอกาสจะมีการรบราฆ่าฟันกัน หรือมีความไม่สงบตามจุดต่างๆ ในประเทศไทยหมดไป หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาเริ่มทำ ผมว่าประชาชนให้การสนับสนุนดี แต่ต่อมาการบริหารแผ่นดินไม่ใช่เรื่องการรักษาความสงบอย่างเดียว แต่มีหลายมิติเหลือเกิน เมื่อมีหลายมิติ ไม่ใช่ของง่ายที่คนใดคนหนึ่งไม่ว่าจะพลเรือนหรือทหาร นักการเมือง เทคโนแครต หรือนักธุรกิจ จะดูแลปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้ทำมาแล้วสบายใจ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอึดอัดใจ ผมชักเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่า ความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นจริงใจแค่ไหนและจะทำหรือเปล่า เพราะข่าวลือมันมากเหลือเกิน ผมก็หวังว่าข่าวลือข้างนอก ทหารก็คงจะได้ยินบ้าง ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อข่าวลือ แล้วก็ไม่ใช่เป็นคนฟังแล้วไปขยายต่อข่าว แต่เมื่อได้ยินมา ผมก็หวังว่าไม่ใช่ แต่ผมว่า ใครก็ตามที่รับผิดชอบ จำเป็นต้องรู้ว่ามีข่าวลือกันอยู่ และเขาต้องรู้ดีว่าข่าวลือนั้นจริงไม่จริง ถ้าเป็นจริงผมก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่จริงก็ควรหาทางปรับความเข้าใจ มีการพูดกันต่าง ๆ นานาว่ามีการตกลงกันนอกรอบ ผมไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่า ถ้ายังสนใจทำเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องแยกให้ถูก การปรองดองเรื่องหนึ่ง การเอาผิดลงโทษเรื่องหนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าควรจะทำอย่างไร การปฏิรูปก็อีกเรื่องหนึ่ง คนชอบถามว่า ปฏิรูปก่อนปรองดองหรือปรองดองก่อนปฏิรูป ในใจคิดว่าต้องไปพร้อมกัน ปฏิรูปคือการพยายามแก้ปัญหาปัจจุบัน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่อนาคต แต่การปรองดอง เป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ในอดีต คงจะต้องดูต่อไปว่า ที่ผ่านมาทำไมไม่มีความปรองดอง เราต้องจับประเด็นให้ถูกว่า ความไม่ปรองดองเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นจากตัวบุคคลหรือเปล่า ในใจผมส่วนหนึ่งเกิดจากตัวบุคคล แต่ไม่คิดว่าปรองดองระหว่างบุคคลแล้ว เมืองไทยจะมีความปรองดองได้ ผมไม่คิดว่าปรองดองกับการประสานผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว จะนำไปสู่ความปรองดองที่ถาวรได้ ปัญหาความแตกแยกของเมืองไทยในอดีตมีมาช้านานแล้ว และเกิดความรุนแรงมากขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ถามว่าประเทศอื่นเขาไม่มีเหรอ ประเทศอื่นเขาก็มี และมีไม่น้อยไปกว่าเมืองไทย ดูประวัติศาสตร์ทั่วโลก เขารุนแรงมากกว่าเราเยอะ
ฉะนั้น ผมมีความหวังว่าสิ่งที่ทำให้คนไทยแตกแยกกันหรือความไม่ปรองดอง หรือความไม่สงบในอดีตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ของเราจิ๊บจ๊อย และคิดว่าของเราแก้ไขได้ แต่ต้องจับประเด็นให้ถูกเสียก่อน
ต้นเหตุของความไม่ปรองดอง!
-ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นบุคคล
-ไม่ใช่เรื่องของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด
-ไม่ใช่เรื่องของศาสนา
-ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง
-ไม่ใช่เรื่องของอะไรอีกหลายอย่างที่พูดกันทั่วไป
แต่ผมว่าทั่วโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ความไม่ปรองดองในเมืองไทยก็เหมือนกับในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีปัญหาเดียวกัน ในอดีตแตกแยกกันระหว่างพวกซ้ายกับพวกขวา หรือเป็นเรื่องของพวกเจ้ากับพวกชนชั้นล่าง หรือวิธีคิดแตกต่างกันด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ
แต่ผมว่า นับวัน ความไม่ปรองดองหรือเหตุของการเกิดความแตกแยกเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในฐานะ เหลื่อมล้ำในอำนาจ เหลื่อมล้ำในการต่อรอง ความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่ เรื่องสิทธิต่างๆ สิ่งที่กำลังเกิดทั่วโลก มันไม่ใช่เรื่องซ้ายขวา แต่เป็นเรื่องข้างบนกับข้างล่าง ไปอ่านข่าวต่างๆ ในโลกนี้ที่หนักคือ บนกับล่าง แล้วบนกับล่างไม่ใช่เรื่องความร่ำรวยอย่างเดียว เพราะข้างบนมีทั้งซ้ายทั้งขวา มีทั้งรวยทั้งจน ข้างล่างก็มีทั้งซ้ายขวา ทั้งจนทั้งรวย
นี่คือเหตุสำคัญไม่ใช่แค่ในเฉพาะเมืองไทย ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องวิธีคิด ทีมีความแตกต่าง ฉะนั้น Challenge ของเราในอนาคต ข้างบนจะฟังข้างล่างได้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน??? ผมไม่ได้บอกว่าทุกอย่างที่ข้างล่างทำถูก หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะไม่ถูก แต่ก็อยู่ในฐานะที่เขาด้อยโอกาส ด้อยสิทธิ ด้อยอำนาจ ด้อยเงิน ข้างบนต้องใจกว้างขึ้น พวกเราที่นั่งตรงนี้อยู่ข้างบนทั้งนั้น เป็นหน้าที่ของเรา นี่ผมถือว่านี่คือ Challenge ของเมืองไทย ถ้าข้างบนไม่ปรับตัว ข้างบนไม่ทำอะไรอย่างจริงจังให้ข้างล่างมีความรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา ไม่ต้องเห็นด้วยกับเขาทุกอย่าง แต่เข้าใจประเด็นที่เขากำลังเดือดร้อน
ประเด็นที่ที่เขายกขึ้นมา แล้วเราพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง สำคัญที่สุดคือ พร้อมที่จะปรับตัวเราเองด้วย เพราะเราเกิดมามีการศึกษาที่ดีมาตลอดชีวิต เราอยู่เหนือคนอื่น
-การงานเราก็ดีกว่า
-เงินทองก็มีมากกว่า
-สิทธิก็มีมากกว่า
-โอกาสก็มีมากกว่า
ถ้าเราไม่คิดเผื่อแผ่ให้กับข้างล่าง เวลาในการพูดจากับข้างล่าง เราต้องยอมเสียเปรียบบ้าง เพราะทั้งชีวิตเราได้เปรียบมาตลอด เราต้องคืนความสุขให้กับคนข้างล่าง พวกเราเสวยสุขมานานแล้ว อันนี้ผมว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของเมืองไทย ข้างบนต้องใจกว้าง ข้างบนต้องจริงจัง ข้างบนต้องรู้เลยว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และพร้อมเข้าไปช่วยแก้ไข โดยคำนึงถึงจิตใจของข้างล่าง มากกว่าคำนึงถึงสถานะของตัวเอง ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูป รัฐต้องเล็กลง และกระจายอำนาจ ส่งอำนาจคืนไปที่จังหวัด ไม่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้กระจุกหมดอยู่ข้างบน กรุงเทพฯก็ข้างบน อำนาจก็กระจุกอยู่ข้างบน ความร่ำรวยกระจุกอยู่ข้างบน 10% ของคนไทยที่มีรายได้ แต่การกระจุกอำนาจ นี่คือตัวปัญหา
ที่ผ่านมาเราบอกว่ามีการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มันไม่ได้กระจายอำนาจอะไรเลย อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ผ่านมาไม่ใช่ครับ เป็นภาพลวง แต่ต้องให้เขามีสิทธิที่จะดูแลชีวิตของเขาในปัจจุบันหรือในอนาคต เขามีสิทธิจะเก็บภาษีในพื้นที่ ให้เขามีสิทธิหลายอย่างที่จะดูแลตัวเอง เขาควรจะมีตำรวจที่จะดูแลเรื่องการจราจรเขาเอง เขามีสิทธิเรียกร้องว่าแบบฉบับของการพัฒนาที่สภาพัฒน์ทำอย่าไปใช้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้ปริมณฑล ใช้ฉบับเดียวกันไม่ได้ คนไทยต้องหัดเป็นคนใจกว้างมากกว่านี้ อย่าถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองพูดถูกหมด ฟังให้มากขึ้น แล้วใส่ใจให้มากขึ้น แล้วเห็นใจคนอื่นมากขึ้น จะต้องเป็นสังคมที่เราแคร์คนอื่น ไม่ใช่ทุกอย่างมองที่ตัวเรา ไม่ใช่ทุกอย่างมองที่สถานะของเราหรือมาจากมุมมองของเรา
ผมไม่สามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยได้ ไม่สามารถเป็นตัวแทนกรุงเทพฯ ได้ ผมอยู่ในกรุงเทพ อยู่ในกระจุกส่วนหนึ่งของผม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการแชร์กัน แบ่งปันกัน แม้แต่ความหวัง เราต้องแชร์กัน ผลประโยชน์ก็ต้องแชร์กัน ไม่มียืนอยู่โดดเดียว แล้วเวลาแชร์ไม่ใช่แชร์กันเฉพาะ 2 - 3 จังหวัด หรือเฉพาะภูมิภาค แต่ต้องแชร์ทั่วประเทศ ประเทศที่เขามีระบบกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น จีน เขาแบ่งปันอำนาจให้กับท้องถิ่นมากกว่าใครๆ ผมถามนักกฎหมาย เราไปเขียนว่าเมืองไทยเป็น รัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ เราเอาตามตัวนั้นเลย เรามีระบอบกษัตริย์ มีความเชิดชู มีความจงรักภักดี แต่มันคนละเรื่องกัน ญี่ปุ่นก็มีระบบกษัตริย์ อังกฤษก็มี แล้วประเทศอย่างจีน เขากระจายอำนาจอย่างจริงจัง รัฐบาลท้องถิ่นเขามีอำนาจหลายอย่าง นี่เป็นเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือเป็นคนไทย สุดท้าย ความอยากเป็นอิสระ ความอยากจะเป็นนายตัวเอง ความอยากมีความคิดเป็นของตนเอง คุณไปห้ามไม่ได้ ในช่วงที่เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมมีบทบาทน้อยที่สุด แต่โชคดีได้เชิญให้ผู้รู้ทั้งหลาย เป็นรายงานที่เราเขียนขึ้นมา ผมยกความดีให้นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นักวิชาการ และอีกหลายคน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดึงประเด็นหรือปัญหาของประเทศชาติเข้ามาสู่สาธารณะ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อทำรายงานเสร็จแล้ว ไม่ค่อยมีใครเอาใจใส่ ตั้งเป้าให้เป็นรายงานที่ไม่ได้เสนอรัฐบาล แต่เสนอพรรคการเมืองทุกพรรค ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนสนใจ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นรายงานหรือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่เสียใจที่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนสนใจเลย คณะรัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ แม้แต่สถาบันทีดีอาร์ไอก็ไม่ทราบว่าสนใจมากน้อยแค่ไหน
เพราะว่านี่คือแบบฉบับที่เอาไปพูดกันได้ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนหรือสถาบันไหนจัดเวทีเสวนาหรือคุยเรื่องรายงาน ถกเถียงกัน เปลี่ยนแปลงปรับปรุง เพราะรายงานเสนอหลายอย่างในสิ่งที่คิดว่าน่าจะต้องมีการคิดต่อไป ไม่ว่าจะเรื่องการคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น หรือการจัดสรรงบประมาณใหม่ เมืองไทยเป็นเมืองที่โอกาสมีมาก แต่เราไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ อันหนึ่งที่สังคมไทยต้องเข้าใจว่า ปัญหาต่างๆที่เราประสบอยู่ ปฏิรูปแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ผมว่าปฏิรูปเป็นกระบวนการ ไม่มีวันจบ แก้ไปอีก 10 ปีก็ต้องแก้ใหม่ ฉันใดฉันนั้น ร่างรัฐธรรมนูญดีอย่างไร แก้ปัญหาเมืองไทย หรือมีเลือกตั้งแล้วจะแก้ปัญหาเมืองไทย
ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เป็นส่วนหนึ่ง รัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง แต่มีอีกหลายเรื่อง สิทธิในการออกความเห็น สิทธิในการชุมนุม
ความอิสระของศาลยุติธรรม
ความอิสระของสื่อ
และอีกหลายประการ ฉะนั้นเราต้องทำพร้อมๆกันไป อย่าไปคิดว่า 1 ปีเริ่มทำปฏิรูปแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ไม่เรียบร้อยหรอก เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหารากเหง้า คือความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมในสังคม ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ผมหมายถึงข้อเท็จจริงว่ามันเหลื่อมล้ำจริงๆ และไม่ยุติธรรมจริงๆ”
Comments