#วนอุทยานแห่งชาติไซหานปา (Saihanba) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของมณฑลเหอเป่ย ถือเป็นป่าที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
วนอุทยานแห่งชาติไซหานปาครอบคลุมพื้นที่ราว 93,000 เฮกตาร์ โดยเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์หลายพันชนิด และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันน่าทึ่งได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้มาเยือนทุกปี อย่างไรก็ตาม อดีตไม่ได้รุ่งเรืองเช่นนี้ เมื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงทศวรรษ 2490 อดีตสถานที่พักผ่อนของราชวงศ์จีนโบราณได้กลายเป็นพื้นที่รกร้างอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก ซึ่งส่งผลให้กรุงปักกิ่งเมืองหลวงของประเทศและภูมิภาคใกล้เคียงต้องเผชิญกับพายุทรายรุนแรงและบ่อยครั้ง ความพยายามครั้งยิ่งใหญ่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2505 เพื่อเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็น “ปาฏิหาริย์” สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้มากถึง 500 ล้านต้น ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจาก 11.4% เป็น 80% ภายในหกทศวรรษ ซึ่งช่วยให้น้ำสะอาดแก่ชาวปักกิ่งและเทียนจินราว 137 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 860,300 ตัน และปล่อยออกซิเจน 598,400 ตัน นอกจากนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อช่วยป้องกันไฟป่า ตั้งแต่การตรวจจับไฟป่าด้วยเรดาร์อินฟราเรด การเตือนฟ้าผ่าล่วงหน้า การเฝ้าระวังไฟป่าผ่านวิดีโอ ไปจนถึงการตรวจสอบจุดความร้อนผ่านดาวเทียม “ระบบของเราจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยอัตโนมัติผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อมีฟ้าผ่าความรุนแรงเกินมาตรฐานใกล้เข้ามา” คุณเผิง จือเจี้ย (Peng Zhijie) ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันไฟป่าแห่งไซหานปา กล่าว “นอกจากนี้ เรายังใช้โดรนเพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบป่าอีกด้วย” เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยปกป้องป่าได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย ทั้งนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ยกย่องความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมของวนอุทยานแห่งชาติไซหานปาในปี 2564 โดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้เป็นต้นแบบของความก้าวหน้าทางนิเวศวิทยาครั้งประวัติศาสตร์ของโลก” จงเคารพธรรมชาติ แล้วประโยชน์จะตามมา “ทุกสรรพชีวิตย่อมเจริญรุ่งเรืองเมื่ออยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและได้รับการหล่อเลี้ยงจากธรรมชาติ” นี่คือคำกล่าวของสวินจื่อ (Xunzi) นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่เมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้อ้างอิงถึงระหว่างการปราศรัยในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยสภาพภูมิอากาศผ่านวิดีโอลิงก์จากกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้ วนอุทยานแห่งชาติไซหานปาเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติสามารถนำไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ธรรมชาติหล่อเลี้ยงเรา ดังนั้น เราต้องถือว่าธรรมชาติเป็นรากเหง้าของเรา เราต้องเคารพธรรมชาติ ปกป้องธรรมชาติ และปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ การไม่เคารพธรรมชาติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติจะทำให้ถูกธรรมชาติลงโทษในภายหลัง” ในปี 2563 จีนได้ประกาศเป้าหมายสองประการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดก่อนปี 2573 และการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนก่อนปี 2603 รายงานที่นำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระบุว่า การผลักดันการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญบนเส้นทางของจีนตลอด 5 ปีข้างหน้า
Comments