สังคม-ยุติธรรม
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 องค์กรสตรี 16 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ และข้อเรียกร้องต่อกรณีการกล่าวหานายปริญญ์ คุกคามทางเพศ ดังนี้
ตามที่มีการรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงกรณีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหา กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงจำนวนหลายคน และ ต่อมานายปริญญ์ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆของพรรคดังกล่าว องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นและเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายปริญญ์เคยสังกัดอยู่นั้น ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีรายงานทางสื่อมวลชนว่า หนึ่งในผู้ที่ออกมากล่าวหานายปริญญ์เป็นอดีตทีมหาเสียงสมาชิกพรรครวมอยู่ด้วย
ดังเช่นที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และได้ปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่านายปริญญ์ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งไปแล้ว อีกทั้ง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ผู้สมัครผู้ว่ากทม.ของพรรค ก็ได้ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
ปัจจุบันการคุกคามทางเพศยังเป็นปัญหาที่หลบซ่อนทั้งที่เกิดในที่สาธารณะ สถานที่ทำงานหรือในสถาบันศึกษาเพราะผู้ประสบปัญหามักจะไม่กล้าออกมาแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุขึ้นมักจะไม่มีหลักฐาน อีกทั้งยังต้องเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำผิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานเหนือกว่า จึงทำให้ผู้ประสบปัญหาจำนวนมากขาดที่พึ่งและเลือกที่จะเก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง และยังได้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการช่วยเหลือและให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงความยุติธรรม
พวกเราตระหนักว่า การคุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ซึ่งรัฐมีความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการคุ้มครอง ป้องกันแก้ไขตามพันธกิจระบุในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และยังตระหนักถึงความยากลำบากของหญิงที่ผ่านพ้นประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมืองและยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้กรณีนี้ถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ต่างจากในหลายกรณีเมื่อผู้เสียหายออกมาเปิดเผยเรื่องราว ก็ต้องเผชิญกับการตั้งคำถามและเป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบจากสังคม
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศและการละเมิดทางเพศ รวมถึงกลไกระดับชาติด้านสตรีในประเทศไทย เพราะถึงแม้ทางรัฐบาลจะกำหนดให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เน้นแต่เพียงการแก้ไขกฎหมายข่มขืนที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากฐานคติความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ไม่ได้ให้พรรคของตนแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจและจริงใจต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงของนายจุรินทร์
องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จึงมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1. ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี ปลดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการระดับชาติส่งเสริมสถานภาพสตรี และงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะล้มเหลวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากที่ประกาศให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการที่ไม่ได้จัดการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคของตนอย่างเหมาะสมเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศจากผู้เสียหายจำนวนมาก
2. ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรับผิดชอบในการที่ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคฯกระทำการคุกคามทางเพศแม้จะได้ลาออกไปแล้ว โดยการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในพรรค คู่ขนานกับกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะต่อกรณีที่หนึ่งในผู้กล่าวหาเคยทำงานให้กับทางพรรค หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและเพื่อจะได้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีต่อไปหากผู้กล่าวหารายนี้ตัดสินใจดำเนินคดีต่อนายปริญญ์ ตลอดจนควรตรวจสอบว่า มีปัญหาในกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในพรรค ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการคุกคามทางเพศด้วยหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการช่วยเหลือหรือปล่อยปละละเลย ผู้ที่อยู่ในกระบวนการคัดสรรจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย
3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และให้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติที่บูรณาการทั้งกลไกในกระบวนการการยุติธรรม ด้านสุขภาพ ตลอดจนการรณรงค์สร้างความตระหนัก จัดอบรมและให้การศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างพอเพียง จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิเพื่อนหญิง
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว
มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร
มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
มูลนิธิเอ็มพลัส
มูลนิธิซิสเตอร์
แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
สำนักพิมพ์สะพาน
กลุ่มทำทาง
คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการที่ปรึกษา
ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ กรรมการที่ปรึกษา
เฉลิมศรี ธรรมบุตร กรรมการที่ปรึกษา
ศิริพร สะโครบาเนค ประธาน
อมรา พงศ์ศาพิชญ์ รองประธาน
Comments