ชุมชนเมือง
“365 วันที่ผ่านมา เป็น 365 วันที่สนุกและยังคงมีพลังเหลือเฟือในการทำงานต่อ ทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่ผลงานของชัชชาติคนเดียว แต่เป็นผลงานของทีมทุกคนที่ร่วมมือกัน เป็นผลงานของผู้บริหาร พี่น้องข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ทีมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เป็นกำลังสำคัญในการออกกฎหมาย และเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อจริง ๆ ในช่วงแรกที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 2565 งบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ได้เริ่มการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายอย่างจริงจังคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,000 ล้านบาท เป็นช่วงที่เริ่มเห็นการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายของเรามากขึ้น และประชาชนสามารถเข้าไปดูสิ่งที่เราทำได้ทางเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
5 เรื่องหลัก ที่ทำต่อเนื่อง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับช่วงแรกมี Key Driver 5 เรื่องหลักที่ได้ทำ คือ
1.การให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย โดยไม่ได้ละเลยเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นว่ากรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย หากทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็งได้ จะทำให้ทั้ง 2 ส่วนทำงานไปด้วยกันได้
2.การเปลี่ยน Mind set ข้าราชการ โดยใช้ People Centric คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หันหน้าหาประชาชน ตอบสนองประชาชนตลอดเวลา ทำให้เป็นหัวใจหลักในการทำงานและผู้บริหารต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง
3.Technology Driver คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยน เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Open Data การเปิดเผยข้อมูล การให้ใบอนุญาตออนไลน์ การให้บริการ Telemedicine เป็นต้น ซึ่งเห็นผลชัดเจน อนาคตต่อไปจะไม่หวนกลับไปในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ประชาชน
4.เรื่องของความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนฝากให้ตั้งแต่เริ่มแรก การเปลี่ยน Mind set ผู้บริหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่เก็บส่วย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความโปร่งใส
5.สร้างภาคีเครือข่าย เพราะปีแรกเราไม่มีงบประมาณอะไรเลย มีเพียงความร่วมมือจากชุมชน หอการค้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้จึงเกิดจากภาคีเครือข่ายทำให้เมืองขับเคลื่อน และคาดว่าภาคีเครือข่ายจะร่วมขับเคลื่อนกทม.ต่อไปในปีที่ 2-4 ด้วย
9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย เดิม สู่ 9 ด้าน 9 ดี 226 นโยบาย ใหม่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายของกรุงเทพมหานคร จาก 9 ด้าน 9 ดี เดิม ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เรียนดี และบริหารจัดการดี ซึ่งประกอบด้วย 216 นโยบาย ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานจริง และตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขื้น เป็น 9 ด้าน 9 ดี ใหม่ ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โปร่งใสดี (ใหม่) สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เรียนดี เศรษฐกิจดี สังคมดี (ใหม่) และบริหารจัดการดี รวม 226 นโยบาย โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย ส่วน 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นนโยบายที่ต้องมีการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น และมี 4 นโยบายยุติการดำเนินการ เช่น นโยบายห้องให้นมเด็ก ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใช้บริการเนื่องจากประชาชนไม่นิยมมีบุตร นโยบายรถห้องสมุดเคลื่อนที่ลงไปถึงชุมชน เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่ถนนเล็ก จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดออนไลน์ เป็นต้น
ติดตามความคืบหน้านโยบายออนไลน์ได้ที่ openpolicy.bangkok.go.th
สำหรับทุกนโยบายจะมีการนำขึ้นเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ปัญหาอุปสรรคอย่างไร โดยช่วงปีแรกนั้นเป็นเรื่องของการทำ Sandbox กับ Prototype เนื่องจากในหลายมิติ เช่น การศึกษา สาธารณสุข เราไม่สามารถนำนโยบายใหม่ไปปฏิบัติทั่วทั้งกรุงเทพฯ ได้ เพราะว่าถ้าเกิดความผิดพลาดจะมีผลกระทบที่รุนแรง ฉะนั้น หลักการของการทำ Sandbox คือทำต้นแบบเล็ก ๆ ก่อน เช่น เลือก 1 โรงเรียน หรือเลือกคลัสเตอร์ของสาธารณสุข อาทิ ราชพิพัฒน์โมเดล ดุสิตโมเดล เป็นต้น ปีแรกจึงเป็นปีของการทดสอบแนวคิด ส่วนปี 2 ปี 3 จะเป็นเรื่องของการขยายผลแนวคิดที่สำเร็จ เช่น Chrome Classroom จะมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนมากขึ้น ราชพิพัฒน์โมเดลก็ขยายเป็น Bangkok Zoning เป็นต้น
ไม่ทิ้งเส้นเลือดใหญ่ โดยสานต่อโครงการเดิมและผลักดันโครงการใหม่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า หลายท่านอาจจะมองว่าทีมงานนี้ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ ต้องเรียนว่า จริง ๆ แล้ว โครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี และผลงานที่นำมาแถลงวันนี้เป็นผลงานของกทม. หลายเรื่องทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ท่านผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งเป็นการวางแผนมาต่อเนื่อง ฉะนั้น โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เรายังมีการสานต่อ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโรงพยาบาลกลาง 4 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลบางนาฯ 3 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน 4.9 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 8.2 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด 2.2 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง 1.66 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกายช่วงที่ 2 ประมาณ 9 ร้อยล้านบาท โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก 7 ร้อยล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน 14,804 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเงิน 48,380 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเทา 29,130 ล้านบาท รวมถึงยังมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงการเริ่มใหม่ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย 5.5 พันล้านบาท โครงการต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 กับ 4 ประมาณ 1.3 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ถนนนิมิตใหม่ 3 พันล้านบาท โครงการกําจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขยะ 1,000 ตันต่อวัน 4.4 พันล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ 2 พันล้านบาท
สรุปความคืบหน้า 9 ด้าน 9 ดี
★ 1.ปลอดภัยดี ★
กทม.ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงภัยและอาชญากรรม ดังนี้ แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ 28,000 ดวง จากไฟที่ดับประมาณ 28,100 ดวง เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED 11,400 ดวง จากเป้าหมาย 25,000 ดวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในอีก 2 เดือน ติดตั้งกล้องป้องกันภัยด้านอาชญากรรมเพิ่ม 160 กล้อง รวมเป็น 60,972 กล้อง ปรับระบบการขอภาพจากกล้อง CCTV ให้สามารถขอได้ภายใน 24 ชั่วโมง ตรวจสถานประกอบการกลางคืนกว่า 300 แห่ง ปรับปรุงทางม้าลาย โดยทาสีขาว 378 แห่ง ทาสีแดง 156 แห่ง ติดไฟปุ่มกดข้ามถนน 52 แห่ง ติดไฟกระพริบ 50 แห่ง รวบรวมฐานข้อมูลเมือง 28 ชุด รวบเป็น 5 Risk Map ประกอบด้วย จุดเสี่ยงน้ำท่วม อัคคีภัย ฝุ่น ทรัพย์สิน และสารเคมี รวมถึงมีการนำแบบแปลนอาคารเข้าระบบแล้วกว่า 5,000 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มทรัพยากร ทักษะและข้อมูลความปลอดภัยชุมชน สร้างระบบเครือข่ายในพื้นที่จัดการสาธารณภัยด้วยการพัฒนาแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขต แล้วเสร็จ 25 สำนักงานเขต
★ 2.โปร่งใสดี ★
หัวใจของความโปร่งใสคือการนำ Traffy Fondue เข้ามาใช้ หากพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เรื่องเวลาก็รวมอยู่ด้วย การที่เราไม่แก้ปัญหาให้รวดเร็วเหมือนเราทุจริตเวลาของประชาชน เพราะเขาต้องอยู่กับปัญหาความยากลำบาก ซึ่ง Traffy Fondue เป็นพลังที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานของกทม. ทำให้ข้าราชการและบุคลากรของกทม.ตื่นตัวอย่างรุนแรง โดยมีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาประมาณ 300,000 เรื่อง แก้เสร็จแล้วประมาณ 200,000 เรื่อง และมีการทำงานระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ มีการเปิดเผยชุดข้อมูลจากเดิม 400 ชุดข้อมูล ปัจจุบันเปิดเผย 720 ชุดข้อมูล ตามความต้องการของประชาชน มีการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ขออนุญาต บริการออนไลน์ (Open Bangkok) โดยนำการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพธนาคมเข้าสู่ระบบการเปิดเผยข้อมูล e-GP ของ กทม. มากกว่ามาตรฐานกรมบัญชีกลาง เปิดบริการ กทม.ออนไลน์ ผ่าน BMA OSS เริ่มจากขออนุญาตก่อสร้างอาคารไม่เกิน 300 ตร.ม. มีการเปิดเว็บไซต์ติดตามการทำงานของ กทม. อีกทั้งยังมีการยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่วมมือกับ ACT GBDI สถานทูตอังกฤษ และ ป.ป.ช. ในการจัดการแก้ไขปัญหาทุจริตและการสร้างความโปร่งใส่ในการทำงานร่วมกัน มีการเปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. เพิ่มช่องทางการรับเรื่องทุจริต เร่งรัดการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิด
★ 3.เศรษฐกิจดี ★
เพิ่มโอกาสตลาดแรงงานและมีการฝึกอาชีพคนเมือง ด้วยการดึงความร่วมมือจากเอกชนร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพ พร้อมเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ เช่น หลักสูตรแม่บ้านโรงแรม หลักสูตร Caregiver ดูแลผู้สูงอายุ มีการจัดระบบสอบโดยรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการครั้งแรกของหน่วยงานรัฐ 9 อัตรา สร้างการจ้างงานในคนพิการแล้ว มีการร่วมมือกับกรุงไทย ออกสินเชื่อ ช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่ฯ เพิ่มพื้นที่ Hawker Center ตลาดค้าขาย ปรับสัดส่วนคณะกรรมการหาบเร่ฯ ให้มีส่วนร่วมจาก ผู้ค้า ประชาชน และนักวิชาการมากขึ้น มีการทำฐานข้อมูลผู้ค้า 19,000 ราย พร้อมออก QR code ให้กับร้านค้า มีการเริ่มทำต้นแบบพัฒนาจุดซักล้าง บ่อดักไข่มัน รวมถึงได้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) และเศรษฐกิจย่าน เทศกาล 12 เดือน 12 เทศกาล ต่อเนื่อง สร้างอัตลักษณ์ 11 ย่าน ผ่านการสนับสนุนทั้ง software และ hardware ตลอดจนเร่งอนุมัติการถ่ายภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ได้ภายใน 3 วัน
★ 4.เดินทางดี ★
เริ่มจากการปรับปรุงทางเท้า 221.47 กม. มีมาตรฐานทางเท้าใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้ทางเท้าแข็งแรงขึ้น มีการปรับลานทางเดินเลียบคลองแสนแสบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เป็น Universal Design มีการยุบ รวม ย้าย ผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน คืนทางเท้าให้ประชาชน 140 จุด เพิ่มความคล่องตัวการเดินทางด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น การไฟฟ้านครหลวง รถไฟฟ้า ฯลฯ รวมทั้งการก่อสร้างในความรับผิดชอบของกทม.เอง เพื่อคืนผิวจราจร อาทิ บริเวณรถไฟสายสีส้ม สะพานเชื้อเพลิง สะพานข้ามแยก ณ ระนอง มีการจัดเทศกิจช่วยดูแลจราจร 890 จุดทุกวัน มีการติดตั้ง CCTV กวดขันวินัยจราจร รวม 30 จุด จับผู้ทำผิดแล้วกว่า 400 ราย นอกจากนี้ยังมีส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง โดยพัฒนา BMA Feeder นำร่อง 4 เส้นทาง ติดตั้งจุดจอดจักรยาน 100 จุด รวม 900 คัน สำหรับเป็น Feeder เพื่อให้สามารถขี่จักรยานเข้ามาสู่รถไฟฟ้าได้ ด้านการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้มีการลอกท่อ 7,115.4 กม. ลอกคลองและเปิดทางน้ำไหล รวม 2,948 กม. พร้อมได้มีการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนเพราะเป็นเส้นเลือดฝอยสำคัญที่ทำให้น้ำลดลงได้เร็วเมื่อเกิดฝนตก
★ 5.สิ่งแวดล้อมดี ★
ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยปลูกต้นไม้แล้ว 400,000 ต้น สวน 15 นาที เริ่มดำเนินการกว่า 100 แห่ง เพิ่มแล้วเสร็จ 28 แห่ง (26 ไร่) มี Pet Park 5 แห่ง ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงมาใช้แล้วมากกว่า 4,500 ตัว ในส่วนของการจัดการอากาศกทม.มีการตรวจฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ ตรวจควันดำ 131,537 คัน รวบรวมเซนเซอร์ฝุ่นเข้าระบบ 622 จุด ด้านการจัดการขยะ ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย ขยะลดลง 300-700 ตัน/วัน ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณไปในหลัก 100 ล้านบาท มีการติดตั้งคอกเขียว 99 จุด 152 คอก บนถนนสายหลัก เพื่อการทิ้งขยะและจัดเก็บตามเวลา ป้องกันสัตว์มากัดแทะ ป้องกันขยะไหลลงท่อระบายน้ำเมื่อเกิดฝนตก ทั้งนี้ จะมีการขยายผลไปทุกถนนที่มีการวางถุงขยะไม่เป็นระเบียบต่อไป
★ 6.สุขภาพดี ★
สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล อาทิ เปิด 22 คลินิกเพศหลากหลาย ให้บริการกว่า 5,900 ครั้ง มี Motorlance หน่วยมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน 50 คัน ครอบคลุม 50 เขต เพื่อให้เข้าถึงเหตุได้เร็วภายใน 8 นาที มีการนำร่องให้บริการหมอถึงชุมชนผ่าน Mobile Medical Unit ใน 104 ชุมชน ให้บริการมากกว่า 4,000 ครั้ง เพิ่ม Excellent Center และศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง เป็น 15 แห่ง เปิดให้บริการ Telemedicine หมอทางไกลในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง เพิ่มเวลาการให้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มบริการเชิงรุก เพิ่มศักยภาพการส่งต่อ มีการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข “พลัส” 6 ศูนย์ มีเตียงพักคอยดูอาการ ลดการส่งต่อโรงพยาบาล ลดระยะเวลาในการสรุปข้อมูลการส่งตัวผู้ป่วยจาก 1 วัน เป็น 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยระยะฟื้นฟูรักษาในชุมชน 18,654 เตียง ที่เข้าระบบสุขภาพของ กทม. ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลไปเยี่ยมทุกเดือน
★ 7.สังคมดี ★
เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย โดยการเปิดระบบจองพื้นที่สาธารณะ 21 แห่ง ทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณแต่เป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงได้ มีการจัดดนตรีในสวน 13 สวน 51 ครั้ง 156 วงดนตรี ซึ่งทำให้ประชาชนที่มาเดินเล่นออกกำลังกายในสวนสามารถรับฟังดนตรีไปด้วยได้ เปิดพื้นที่แสดงดนตรี Bangkok Street Performer 12 จุด มีคนมาแสดงมากกว่า 200 วง และปรับปรุง 62 อาคาร ให้ Universal Design ให้ทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเงื่อนไขการดำรงชีพคนไร้บ้าน คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดจุดบริการคนไร้บ้าน (Drop In) เรื่อง อาหาร งาน รักษาพยาบาล ตัดผม อาบน้ำ ทำบัตรประชาชน แจกอาหารไปมากกว่า 17,000 กล่อง จากการตรวจสอบล่าสุดคนไร้บ้านลดลงประมาณ 490 คน จากปี 2565 เนื่องจากมีการส่งต่อให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลด้วย อีกทั้งลดเวลาในการออกบัตรคนพิการจาก 3 วัน เป็น 3 ชั่วโมง ซึ่งออกบัตรแล้วกว่า 895 ราย ส่งต่ออาหารส่วนเกินผ่าน Bangkok Food Bank ช่วยกลุ่มเปราะบาง 10,000 มื้อ 4,500 คน และในอนาคตจะขยายผลให้จริงจังมากขึ้น มีการจัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) 525 ชุมชน เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยีลงชุมชนและช่วยคนในชุมชนให้เข้าใจในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น และยังเพิ่มค่าตอบแทน ให้กับคณะกรรมการชุมชน จากแต่ก่อนคณะกรรมการทำงานในรูปแบบเสียสละไม่ได้รับค่าตอบแทน
★ 8.เรียนดี ★
ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กเล็กก่อนวัยเรียน (2-6 ปี) โดยการปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมจาก 20 เป็น 32 บาท สำหรับเด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ให้ค่าวัสดุอุปกรณ์จาก 100 เป็น 600 บาท ทำให้เราสามารถดูแลเด็กก่อนวัยเรียนได้ดีขึ้น สำรวจข้อมูลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 274 ศูนย์ (100%) เพื่อจัดสรรงบประมาณปี 2567 มีการพัฒนาสวัสดิการครูและนักเรียน โดยที่กทม.อุดหนุนค่าอาหาร ค่าชุด 1,171 ล้านบาท เพิ่มเติมจากที่รัฐบาลให้มา แจกผ้าอนามัยกว่า 380,772 ชิ้น 341 โรงเรียน ให้กับนักเรียนมากกว่า 23,000 คน ในอนาคตจะแจกให้ครบ 100% เนื่องจากเป็นภาระของนักเรียนและเป็นเรื่องที่กทม.ต้องช่วยดูแล แจกหมวกกันน็อก 120,000 ใบ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้มีเครือข่ายที่มาร่วมกับกับกทม. ไม่ได้ใช้งบประมาณอีกเช่นกัน เราต้องการคืนครูให้กับเด็ก ทำให้ครูมีเวลาสอนและดูแลเด็กมากขึ้น โดยการจ้างพนักงานธุรการมากกว่า 300 คน มาช่วยลดภาระงานครู เนื่องจากทุกวันนี้ครูเสียเวลาไปกับงานธุรการ รวมถึงพัฒนาคุณภาพอาหารในโรงเรียน มีการจัดสลัดบาร์ 3 วันต่อสัปดาห์ ใน 437 โรงเรียน มีโปรแกรมที่สามารถถ่ายรูปตรวจสอบคุณภาพอาหารได้ อีกทั้งยังมีการ Transform หลักสูตร และห้องเรียนดิจิทัล เปิดโรงเรียนวันหยุด คือ Saturday School และหลังเลิกเรียน คือ After School เป็นโปรแกรมที่ส่งเสริมเด็กไม่ต้องไปวิ่งเล่นที่อื่น สำหรับผู้ปกครองที่มารับตอนเย็นโดยลูกยังอยู่หลังเลิกเรียนได้ มี 16 วิชา 52 โรงเรียนดูแลนักเรียนมากกว่า 1,000 คน มีโครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์ 21,553 เครื่อง 437 โรงเรียน ซึ่งทุกโรงเรียนจะมีคอมพิวเตอร์ใหม่ ขณะนี้อยู่กระบวนการเริ่มติดตั้งและเริ่มใช้งาน อีกทั้งเพิ่มวิชาชีพเลือกเสรีให้กับนักเรียนใน 109 โรงเรียน นำระบบ Google Classroom เข้ามาใช้ในโรงเรียน กทม. (Active learning) จะเห็นว่าเรื่องเรียนดีมีเรื่องที่น่าสนุกมากมาย เชื่อว่าในปีที่ 2 จะขยายผลไปได้อีกหลายเรื่อง
★ 9.บริหารจัดการดี ★
พัฒนาระบบงาน เงิน คน และระเบียบให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรงบกลางปี 66 กว่า 5,024 ล้านบาท ลงเส้นเลือดฝอย เพื่อปรับปรุงเขตที่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและเรื่องถนน และจัดสรรงบ 200,000 บาทต่อชุมชน ซึ่งทางสภากรุงเทพมหานครจัดสรรงบให้มา เป็นการให้ประชาชนร่วมตัดสินใจถึงความต้องการของประชาชนเอง มีการยกเลิกข้อบัญญัติล้าสมัยเกี่ยวกับควบคุมอาคาร 11 ฉบับ ทำประกันอุบัติเหตุให้พนักงานกวาด 9,079 คน ที่ดินใน กทม. 99.42% ถูกประเมินเพื่อจัดเก็บภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดทำงบประมาณแบบ Zero-Based Budgeting มีมูลค่างบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากนำรายการเดิมที่ไม่จำเป็นออกไปและทำเฉพาะรายการที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งยังมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมบริหารจัดการเมือง โดยจัดตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการกำหนดทิศทางเมือง จัด Hack BKK ดึงบริษัทที่มีศักยภาพร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มให้คนกรุงเทพฯ
เป้าหมาย 9 ดี ในอีก 3 ปีข้างหน้า
สำหรับเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า “ด้านเดินทางดี” คือ กทม.มีทางเท้าดี 1000 กม. ทางเดินริมแม่น้ำ 153 กม. Adaptive Signaling 200 แห่ง ศาลาที่พักผู้โดยสาร 476 หลัง CCTV ตรวจจับ Traffic Violation 500 แห่ง แก้ไขจุดฝืด 100 จุด ลดจุดเสี่ยงจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 83 จุด
“ด้านปลอดภัยดี” คือ มี CCTV ป้องกันภัยด้านอาชญากรรม 65,440 กล้อง เปลี่ยนไฟ LED 100,000 หลอด แก้ไขจุดเสี่ยง 100 จุด จัดหาเครื่องดับเพลิง พร้อมระบุตำแหน่งและซ้อมแผนชุมชน 30,000 แห่ง ปรับปรุงสถานีดับเพลิง 9 แห่ง และสร้างเพิ่ม 11 แห่ง
“ด้านโปร่งใสดี” คือ มีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารลดดุลพินิจในการตัดสินใจ การบริการ กทม.ออนไลน์ 100% ผ่าน OSS เปิดเผยข้อมูล Open Bangkok อย่างน้อย 1,500 ชุดข้อมูล
“ด้านสิ่งแวดล้อมดี” คือ มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ปลูกต้นไม้ 1,000,000 ต้น สวน 15 นาที รวม 500 แห่ง คัดแยกขยะต้นทาง 3,000 ตัน/วัน ระบบติดตามแจ้งเตือนฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด ร่วมกับรัฐบาลออกข้อบังคับ Low Emission Zone ให้รถทุกคันที่วิ่งเข้า กทม. จ่ายค่าธรรมเนียมมลพิษทางอากาศ
“ด้านสุขภาพดี” คือ มีศูนย์บริการสาธารณสุข ปรับปรุง 30 แห่ง สร้างใหม่ 38 แห่ง ผ้าอนามัยฟรี 100% ในโรงเรียน ศึกษาออกแบบโรงพยาบาล 2 แห่ง และก่อสร้าง 3 แห่ง
“ด้านเรียนดี” คือ ทุกโรงเรียนมีอาหารถูกหลัก คุณภาพดีทั้งมื้อเช้าและเย็น ปรับปรุง 274 ศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน และขยายการดูแลศูนย์เด็กเล็กให้ครอบคลุมทุกชุมชน คะแนน ONET นักเรียนในสังกัดกทม.สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ (ปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ) นักเรียน กทม.สื่อสารภาษาไทย ต่างประเทศ และภาษาดิจิทัล (Coding) ได้ ลดภาระงานเอกสาร 100% Transform หลักสูตรและห้องเรียนดิจิทัลครบทุกโรงเรียน พัฒนาหลักสูตรสู่ฐานสมรรถนะและมุ่งสู่การเรียนรู้สู่อาชีพ
“ด้านเศรษฐกิจดี” ขณะนี้เรายังลุยได้ไม่เต็มที่ ในอนาคตจะพัฒนาเมืองในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ส่งเสริมการลงทุน Investment Promotion Zone แก้พ.ร.บ. 2528 ให้ กทม. มีอำนาจจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีโรงแรม ค่าธรรมเนียมยาสูบ ภาษีน้ำมัน พัฒนาย่าน 3 คลองในเขตเมืองชั้นใน ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองคูเมืองเดิม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี สร้าง Branding ทั้ง 50 ย่าน ส่งเสริม Local Economy ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนพัฒนาหลักสูตร์ฝึกอาชีพ ผลิตแรงงานสู่ตลาดอย่างน้อย 1,000 ตำแหน่งต่อปี
“ด้านสังคมดี” จะมีการสร้างศูนย์เยาวชน ศูนย์กีฬา หอศิลป์ เพิ่มอย่างน้อย 5 แห่ง มีฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน เพิ่ม อสท. ครอบคลุม 2,017 ชุมชน มีแพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สาธารณะของ กทม. และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต ครบทุกพื้นที่ จ้างคนพิการใน กทม. มากกว่า 660 ตำแหน่ง (1% ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ) และจัดสรรงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมทุกชุมชนทุกปีอย่างต่อเนื่อง
และ “ด้านบริหารจัดการดี” คือ การขอเอกสารราชการออนไลน์ 109 กระบวนงาน ผังเมืองรวมใหม่ตามแนวคิด “บ้านใกล้งาน” สวัสดิการใหม่แก่พนักงานกวาดและเก็บขยะ 19,844 คน และแผนลงทุน Capital Improvement Program เครื่องมือบริหารจัดการเมือง
ตอบคำถามส่งท้ายการแถลง น้อมรับข้อติชม พร้อมปรับปรุงให้ดีขึ้น
“เป็น 1 ปีที่สนุกและยังมีหลายอย่างที่ต้องทำต่อ ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองให้ดีขึ้น มั่นใจว่าที่ผ่านมาเรามาถูกทาง และยินดีน้อมรับข้อติชมนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น สำหรับหัวใจสำคัญไม่ใช่การ PR ผลงาน แต่คือการทำให้ประชาชนรู้สึกเองว่าชีวิตดีขึ้นจากงานของกทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
จากนั้นคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ร่วมตอบคำถามสื่อมวลชนและประชาชนในประเด็นต่าง ๆ โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงเรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานว่าคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องความโปร่งใสเป็นหัวใจหลัก หากไม่มี ประชาชนก็จะไม่ไว้ใจ แต่แนวโน้มของเรื่องนี้ดีขึ้น ที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการและลูกจ้างกทม.ส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ประชาชนอาจไม่ยอมรับเรื่องความโปร่งใส หากผู้บริหารกทม.สามารถเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งที่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนไว้ใจและเข้ามาเป็นแนวร่วมกับเราได้ ในส่วนของเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue ที่มีมากถึง 3 แสนเรื่อง ไม่ได้แสดงว่าเราอ่อนแอ แต่แสดงว่าประชาชนเริ่มไว้ใจเรา เชื่อว่าเราเอาจริงเอาจัง ซึ่งเห็นว่าเรื่องของ “ความไว้ใจ” มีค่ามากกว่างบประมาณ อย่างเช่น โครงการที่มีคนกังวลมาก เรื่องของการนำเงิน 200,000 บาทเข้าสู่ชุมชน กทม.ก็ทำให้โปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้นโดยเอาประชาชนมาเป็นแนวร่วม อบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่และชาวชุมชนเพื่อให้ความรู้และป้องกัน ซึ่งดีกว่าการไปจับผิดทีหลัง และทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้น เชื่อว่าจะดีขึ้นแน่นอน โดยในกทม.มีจุดเสี่ยงกว่า 700 แห่ง เมื่อระบุในแผนที่ดิจิทัลและเร่งแก้ในแต่ละจุดจะเห็นว่าแก้ไปได้มากกว่าครึ่ง ในขณะเดียวกันก็ทำเส้นเลือดใหญ่คืออุโมงค์เพิ่ม และเหตุฝนตกหลายครั้งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำระบายได้ดีขึ้น แต่ผลกระทบจาก Climate Change ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักในบางจุดเป็นสิ่งที่ยังกังวล เพราะต้องใช้เวลาในการระบายน้ำมากขึ้น แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้เห็นว่าจุดแข็งของกทม.คือเราเป็นหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่และทรัพยากรอยู่ในทุกส่วนทุกพื้นที่ หากเราเอาใจใส่และจริงจังจะสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้จริง ๆ ที่ผ่านมา 1 ปี เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว หัวใจสำคัญไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ผลงาน แต่อยากให้ประชาชนรู้สึกเองว่าชีวิตดีขึ้นจากงานที่กทม.ทำ แต่เรื่อง Mega Project อาจจะยังจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอยู่
เรื่อง Mega Project เรื่องหนึ่งที่กทม.ทำ คือ เอาเทคโนโลยีมาควบคุมเรื่องการจราจร น่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้า ซึ่งเห็นว่าปัญหาจราจรที่สำคัญคือการควบคุมไฟจราจร และพบว่ายังไม่มีการทำงานแบบ Area Base หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินใจ เปิดไฟจราจรให้สอดคล้องกับสภาพจริงจะทำให้ปัญหาดีขึ้น ซึ่งต้องประสานกับตำรวจเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง โดยกำหนดพื้นที่เป็น Zoning เริ่มจากถนนพหลโยธิน
“ปัญหาของกรุงเทพไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องเล็กที่ไม่มีคนสนใจ แต่กลับเป็นเรื่องที่แตะกับชีวิตคน ฉะนั้น เรื่องเล็กที่กทม.ทำจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นการตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุด ซึ่งต้องทำทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่คู่ขนานกันไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
★ เดินหน้าหาพื้นที่สร้างสถานพยาบาลโซนกรุงเทพเหนือและตะวันออก
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง Mega Project ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโรงพยาบาลของกทม. ว่า โรงพยาบาลกทม.ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงในขณะนี้ คือ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ นอกจากนี้ยังมีการหาพื้นที่เพื่อทำสถานพยาบาลในโซนกรุงเทพเหนือและกรุงเทพตะวันออก ในเขตคลองสามวา ภาษีเจริญ และบางนา ด้วยเช่นกัน
★ มุ่งเป้าดูแลคนไร้บ้าน ไม่ให้ไร้สิทธิ ไม่ให้ไร้บ้าน
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาคนไร้บ้านในกทม.ว่า มี 4 นโยบายตรง และ 5 นโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนไร้บ้านเป็นปลายทางของสวัสดิการทุกอย่าง กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ในปีแรกได้ตั้งจุดบริการจัดระเบียบการแจกอาหาร ดำเนินแจกอาหารให้คนไร้บ้านไปแล้วกว่า 17,325 กล่อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้เห็นว่า เดิมคนไร้บ้านที่มีมากถึง 1,761 คน ขณะนี้เกิดการจ้างงาน ทำให้คนไร้บ้านลดลงเหลือ 1,271 คน ส่วนหนึ่งคือการจ้างงานโดยกทม. และหลายภาคส่วนมาร่วมต่อยอด สำหรับในปีหน้าจะต่อยอดจัดระเบียบบ้านอิ่มใจ รวมถึงจัดระเบียบตาม Zoning เพื่อไปสู่เป้าหมายการไม่ให้คนเหล่านี้ไร้สิทธิ ไร้บ้าน
★ ปรับปรุงจุดเสี่ยงจราจร เล็งจัดเก็บค่าจอดรถ
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเพิ่มจำนวนทางม้าลายว่า ในขณะนี้ได้ดำเนินการทาสีให้ชัดเจนขึ้น และบางส่วนดำเนินการไปพร้อมกับการปรับปรุงจุดเสี่ยง ในส่วนของจัดเก็บค่าจอดรถ กทม.จะประสานกับตำรวจจราจรเพื่อกำหนดเส้นทางที่สามารถจัดเก็บได้และเพิ่มเส้นทางที่จะจัดเก็บใหม่ต่อไป ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า การจัดเก็บค่าจอดรถตามถนนต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการจัดเก็บค่าที่จอดรถจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการหมุนเวียน ร้านค้าจะขายของได้มากขึ้น แต่ต้องมาดูเรื่องของอำนาจการจับปรับหากฝ่าฝืน
★ เดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่องเพื่อคนกรุงเทพฯ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงข้อติดขัดที่เป็นปัญหาใน Traffy Fondue ว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อีกส่วนคือโครงการที่ต้องมีการประสานกับหน่วยงานอื่น ซึ่งต้องหารือให้เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของหาบเร่แผงลอยที่ยังไม่สามารถแก้ได้ 100% เพราะผู้ค้าไปและมา ทำให้จับได้ยาก ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และดูแลให้ครอบคลุมถึงเรื่องการจับมอเตอร์ไซค์ขับขี่บนทางเท้าด้วย แต่จะพยายามแก้ให้ปัญหาเหล่านี้ดีขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากกทม.ต้องใช้หนี้ จะส่งผลต่องบประมาณกทม.หรือไม่ นั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า หากมองในอนาคต หลังปี 72 จะมีรายได้ คงต้องดูอีกที หากต้องจ่ายหนี้อาจต้องทยอยจ่าย แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถบริหารได้แต่ต้องรอบคอบมากขึ้น ส่วนเรื่องของผลกระทบคงมี เพราะเป็นหนี้ที่เพิ่มเข้ามา
Commentaires