ต่างประเทศ
งาน World Economic Forum2022มี 6เทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงในเวทีนี้ อันจะส่งผลกระทบต่อโลกมากมาย ประกอบด้วย
.
1. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
2. วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงาน
3. ความกังวลที่จะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
4. การเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งหน้า
5. อนาคตของการทำงาน
6. เทคโนโลยีดิจิทัล
อ่านรายละเอียดทั้งหมดต่อได้ที่ BOT พระสยาม Magazine
(คลิก) https://bit.ly/3CgfTMz
World Economic Forum (WEF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีการจัดงานประชุมประจำปี ณ เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ WEF เป็นเวทีใหญ่ที่บุคคลสำคัญ ในหลากหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกมาร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายระดับโลกพร้อมทั้งกำหนดทิศทางที่ยั่งยืนในอนาคต
สำหรับปีนี้มีการจัดงานประชุมประจำปีในวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2565 ภายใต้ธีม History at a Turning Point: Government Policies and Business Strategies โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2 พันคนจากหลายประเทศทั่วโลก งาน WEF ในครั้งนี้กลับมาจัดงานในรูปแบบพบหน้ากันอีกครั้ง หลังจากต้องจัดงานผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของโรคโควิด 19 และมีการหารือในทิศทางสำคัญ 6 ประเด็น ดังนี้
1. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
รัสเซียรุกรานประเทศยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และยังคงยืดเยื้อไปถึงช่วงการจัดงาน WEF ในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวยูเครนจำนวนมาก โดยผู้จัดงาน WEF ไม่ได้เชิญประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียมาร่วมงานเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันได้มีการเชิญประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของยูเครนให้มากล่าวผ่าน live session พิเศษถึงข้อเรียกร้องให้ทุกประเทศมีมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจแก่ประเทศรัสเซียในระดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงท่าทีของนานาชาติที่มีต่อการรุกรานในครั้งนี้ ตลอดจนมีการหารือถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีท่าทีแตกต่างกันต่อความขัดแย้งครั้งนี้ รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรนานาชาติ ร่วมมือแก้ไขความขัดแย้งและนำสันติภาพกลับมาอีกครั้ง
2. วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงาน
แม้ว่าจะมีการหารือเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในงาน WEF มาอย่างต่อเนื่อง แต่จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ข้อมูลปี 2564 พบว่าการปล่อยมลพิษทั่วโลกยังไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มสูงขึ้น 6% ขณะที่มีการใช้ถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น 9% และยังส่งผลกระทบต่อวิกฤตการณ์อาหารโลก เนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิ หรือระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง ในขณะเดียวกันพบว่า กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก วิกฤตทั้งสองจึงเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันประชากรกว่า 1 พันล้านคน มีปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร และคาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกต้องเพิ่มผลผลิตทางอาหารมากกว่า 60% ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอาหารและเทคโนโลยีสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงจะเป็นทางออกสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
วิกฤตพลังงานอาจส่งผลให้ให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงขึ้น จะเห็นได้จากสงครามในประเทศยูเครนทำให้เกิดปัญหาด้านพลังงานในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรป การลงโทษทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียส่งผลให้รัสเซียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตอบโต้กลับ โดยการลดปริมาณการส่งออกให้แก่ประเทศในยุโรปสำหรับการผลิตไฟฟ้า ทำให้หลายประเทศทบทวนการกลับมาใช้ถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้า สาเหตุดังกล่าวมีผลต่อปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
จะเห็นว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงานมีความสัมพันธ์กัน และทุกปัญหามีความรุนแรงกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก หากทุกคนไม่ร่วมมือกันอย่างตั้งใจและเห็นอกเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบ ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไขและจะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติรุ่นต่อไป
3. ความกังวลที่จะเกิด Recession
อีกประเด็นที่มีการหารือในการประชุม WEF คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อสูงเนื่องจากวิกฤตในประเทศยูเครน ที่ส่งผลต่อต้นทุนราคาพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นในยุโรป ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเกิดเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมีความกังวลที่แต่ละประเทศอาจจะต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป
4. การเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งหน้า
สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การหารือระหว่างผู้นำถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคระบาดอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดในอนาคต โดยจากวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนในประเทศรายได้สูงได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงประมาณ 75% แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์กลับแตกต่างออกไปในประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีประชาชนเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน ยิ่งไปกว่านั้น มีการเปรียบเทียบว่า "การไม่จัดสรรวัคซีนโควิด 19 อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมก็ไม่ต่างจากการเหยียดเชื้อชาติ"
ในการประชุมครั้งนี้ Pfizer บริษัทยาชั้นนำซึ่งเป็น strategic partner ของ WEF ได้มีข้อตกลงร่วมกัน (accord for a healthier world) โดยนำเสนอยาและวัคซีนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรทั้งหมดของทางบริษัท รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 บนพื้นฐานของการไม่แสวงหาผลกำไรให้กับ 45 ประเทศที่มีรายได้น้อยด้วย เพื่อเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต
5. อนาคตของการทำงาน (Future of Work)
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน จากการศึกษาพบว่าหากทำสิ่งใดเป็นเวลา 60 วันติดต่อกัน จะทำให้คนเราเปลี่ยนพฤติกรรมได้ การระบาดของโควิด 19 ที่กินระยะเวลากว่า 2 ปีจึงส่งผลให้คนจำนวนมากเปลี่ยนพฤติกรรมให้คุ้นเคยกับการทำงานจากบ้าน และเมื่อหลายบริษัทให้พนักงานกลับไปทำงานในสำนักงานตามรูปแบบปกติ ทำให้พนักงานไม่คุ้นชิน ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการลาออกของคนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา (the great resignation) และยังพบว่าการทำงานในรูปแบบไฮบริดทั้งทำงานที่สำนักงานและทำงานจากที่อื่น ๆ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ประมาณ 5% พนักงานยังมีความสุขจากการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะสามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้และมี work-life balance เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงความสำคัญของการ reskill แรงงานเพื่อเพิ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลที่ยังขาดแคลน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรต้องร่วมมือ เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรแรงงานที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ได้มีการออก white paper เรื่อง Jobs of Tomorrow: The Triple Returns of Social Jobs in the Economic Recovery ที่พูดถึงการสร้างงานที่เกี่ยวกับงานบริการสังคม เช่น งานดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก โดยคาดว่า ในปี 2573 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปแตะ 8.5 พันล้านคน ทำให้มีความขาดแคลนแรงงานด้านบริการสังคม โดยเห็นว่าภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญและส่งเสริมงานประเภทดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
6. เทคโนโลยีดิจิทัล
เป็นที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลกเป็นอย่างมาก งานประชุม WEF ครั้งนี้ จึงมีการหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ การเงิน และการศึกษาได้มากยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงเรื่องกฎระเบียบในการกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีกฎเกณฑ์ที่จะมากำกับดูแลในอนาคต บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดก็ควรยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ที่จะมากำกับดูแล นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงแนวทางการพัฒนา Metaverse ในอนาคตว่า การพัฒนา Metaverse ควรต้องมีเรื่องของธรรมาภิบาลควบคู่กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
Recession fears cast shadow over Davos gathering | bbc.com Hong Kong shares down nearly 3%, Asia markets drop as geopolitical tensions rise over Pelosi visit | cnbc.com
Cr.เพจธนาคารแห่งประเทศไทย
.
Comentarios