การค้า
นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ครั้งที่ 09/66
โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า
"ช่วง 8 เดือนของปี 2566 (มกราคม - สิงหาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 435 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 145 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 290 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 65,790 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,491 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 99 ราย (ร้อยละ 23) เงินลงทุน 21,981 ล้านบาท สิงคโปร์ 72 ราย (ร้อยละ 17) เงินลงทุน 13,995 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 71 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 3,070 ล้านบาท จีน 31 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 11,851 ล้านบาท และฮ่องกง 19 ราย (ร้อยละ 4) เงินลงทุน 5,359 ล้านบาท
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 (เดือน ม.ค. - ส.ค.2566 อนุญาต 435 ราย / เดือน ม.ค. - ส.ค.2565 อนุญาต 381 ราย) มูลค่าการลงทุนลดลง 17,492 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 (เดือน ม.ค. - ส.ค.2566 ลงทุน 65,790 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ส.ค.2565 ลงทุน 83,282 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 729 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 (เดือน ม.ค.- ส.ค.2566 จ้างงาน 4,491 คน / เดือน ม.ค. - ส.ค.2565 จ้างงาน 3,762 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม - สิงหาคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ * บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย * บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง * บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการสำหรับโครงการรถไฟฟ้า * บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก * บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสำหรับที่ใช้ในสถานพยาบาล * บริการซอฟต์แวร์ ประเภท ENTERPRISE SOFTWARE และ DIGITAL CONTENT * บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - สิงหาคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 86 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 14,283 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 37 ราย ลงทุน 6,216 ล้านบาท จีน 13 ราย ลงทุน 1,053 ล้านบาท ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 30 ราย ลงทุน 2,968 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การเลือกใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การวางแผนติดตั้งและทดสอบการทำงานของเครื่องจักร วางแผนประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยในการทำงานสำหรับการใช้เครนหรือเครื่องจักรในการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น 3) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และ 5) บริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
เฉพาะเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 58 ราย เป็นการลงทุนผ่านการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 23 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 35 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,840 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 897 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะ และองค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการผสมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) เป็นต้น
ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ * การผลิตแป้งจากข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตขนมข้าวอบกรอบ (RICE CRACKERS) * บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย * บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทผลิตภัณฑ์ไดโอดเปล่งแสง (LED Assembly) * บริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระหว่างร้านค้าออนไลน์ และผู้ให้บริการคลังสินค้าและขนส่งสินค้า * บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น ให้บริการทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการการใช้งานเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตามหลักการวิศวกรรมควบคุมดูแลการใช้งาน สังเกตการณ์ และตรวจสอบความปลอดภัย ดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการใช้งานของเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น
Kommentare