ข่าวเด่น
@เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำเพิ่ม หลังปริมาณน้ำเกินความจุ
ปริมาณน้ำฝน น้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำตามมติคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ แจ้งเตือน 6 จังหวัดท้ายน้ำ
จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 6 ต.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุ "โนรู " ปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ในวันที่ 30 ก.ย. 65 และปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือในวันที่ 1 ต.ค. 65 ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ในช่วงวันที่ 1 - 2 ต.ค. 65 และพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างในวันที่ 3 ต.ค. 65 นอกจากนี้มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 65 ทำให้มีฝนตกหนักและหนักมาก
อย่างต่อเนื่อง บริเวณพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 65 มีปริมาณน้ำ 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 112 ของความจุอ่างฯ นั้น
กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ ในระหว่างวันที่ 8 - 14 ต.ค. 2565 รวมประมาณเกือบ 500 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 14 ต.ค. 65 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด ที่ปริมาณ 960 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องตามมติที่ประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯจากเดิมอัตรา 830 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 900 ลบ.ม./วินาที
โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันนี้ (8 ต.ค. 65) เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท - ป่าสัก แล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตราประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที
ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักฯ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร
โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างอัตรา 80 - 120 ลบ.ม./วินาที ลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างตามแนวคลองเหนือใต้ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสัก ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด!!!
ต่อมา วันนี้ (8ต.ค65)ปภ. แจ้งเน้นย้ำ 5 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 8 ต.ค. 65 เป็นต้นไป
เวลา 10.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเน้นย้ำ 5 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรีเฝ้าระวังผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 65 เป็นต้นไป พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงริมน้ำที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจาก กรมชลประทาน ว่า จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ช่วงระหว่างวันที่ 8 -14 ตุลาคม 2565 รวมจำนวน 492.38 ล้านลูกบาศก์ เมตร และวันที่ 14 ตุลาคม 2565 คาดการณ์ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 1,030.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น กรมชลประทานจะปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 830 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30 –50 เซนติเมตร โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อำเภอท่าเรือ จังหวัด
พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างอัตรา 80 - 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้แจ้งเน้นย้ำไปยัง 5 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เฝ้าระวังผลกระทบระดับ น้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 65 เป็นต้นไป โดยกำชับจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้ง
เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ
โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ผู้บังคับเรือโดยสาร/เรือโยงขนส่งสินค้าหรือวัสดุ ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
@ชลประทาน เร่งช่วยพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำเข้าทุ่งลุ่มต่ำ
ปริมาณน้ำเหนือไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำเข้าพื้นที่ว่าง ลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (6 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 17.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,077 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 3,014 ลบ.ม./วินาที สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 401 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 371 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่ +17.59 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) เป็น +17.66 ม.รทก ระดับน้ำจะสูงขึ้น 7 เซนติเมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน บริหารจัดการโดยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรับน้ำเข้าพื้นที่ว่างมากขึ้น วันที่่ 6 ต.ค. 65 บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ปริมาณการรับน้ำผันเข้าทุ่ง รวมกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่กว่า 763 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุฯ ซึ่งยังมีที่ว่างเพียงพอในการรับน้ำหลากได้อีก
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำโดยเพิ่มการระบายน้ำเป็นลำดับแบบขั้นบันได บูรณาการทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับความสอดคล้องในการระบายน้ำ และระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที
อนึ่ง ล่าสุดในวันนี้ (8 ตุลาคม2565) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ชะลอการระบายน้ำเหนือ ด้วยการลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ตอนบนตามความเหมาะสม โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้ปิดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน แต่เนื่องจากยังคงมีฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จึงทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการรับน้ำผ่านระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
พร้อมกันนี้ ได้จัดชุดเฉพาะกิจสายก่อสร้างร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำชั่วคราวต่างๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากพบจุดที่อาจมีความเสี่ยงให้เร่งดำเนินการเข้าไปซ่อมแซมให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเสริมคันดิน พร้อมเตรียมกระสอบทราย เพิ่มความแข็งแรงของคันคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกขึ้น รวมถึงการเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดด้วย
ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดทีมลงพื้นที่ไปติดตามและสอบถามความต้องการของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้อย่างถูกจุดและตรงกับความต้องการ
ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่สำคัญยังสามารถใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัยได้อีกด้วย
@ผู้ว่าจังหวัดลุ่มน้ำเตรียมรับมือ24 ชั่วโมง
1.อยุธยา
กอปภ.อยุธยา แจ้ง ๘-๑๔ ตุลาคม ชป. จะระบายน้ำท้ายเขื่อนพระรามหก ๑,๐๐๐ ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากเดิม ๓๐-๕๐ ซม. เตือนประชาชน อ.ท่าเรือ เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
แจ้งเตือน จาก กรมชลประทานว่า วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ และในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ คาดการณ์ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ ในอัตราประมาณ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่อำเภอท่าเรือ สูงขึ้นจากเดิม ๓๐-๕๐ ซม. ขอให้ประชาชน ร้านค้าในพื้นที่เสี่ยง และเรือโดยสาร/เรือโยง เฝ้าระวังติดตามข่าวสาร ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระวังอันตรายจากกระแสไฟรั่ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ผู้บังคับเรือโดยสาร/เรือโยงขนส่งสินค้าหรือวัสดุ เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันน้ำท่วมในสถานที่สำคัญๆ บริเวณริมแม่น้ำ หลังเขื่อนเจ้าพระยามีประกาศการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ลบ./ม. วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่สถานที่สำคัญๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย วัดธรรมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และวัดท่าการ้อง ซึ่งเป็นจุดเปราะบาง เพื่อวางแผนในการป้องกันน้ำเพิ่มเติม หลังจากที่ กอนช. ประกาศ การระบายน้ำเพิ่ม 2,900-3,000 ลบ.ม/วินาที
อย่างไรก็ตาม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน หน่วยงาน ห้างร้าน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 0.15 - 0.30 เมตร ตั้งแต่บริเวณ อ.บางไทร จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 8-13 ตุลาคม 2565
2.สระบุรีออกประกาศจังหวัด
ระบายน้ำผ่านหรือเข้าไปในที่ดิน (ทุ่งรับน้ำ)
นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แจ้งว่า ตามมติคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง
เรื่อง การระบายน้ำผ่านหรือเข้าไปในที่ดิน (ทุ่งรับน้ำ) เพื่อบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอันเป็นการป้องกันและ
บรรเทาภัยสาธารณะ นั้นจังหวัดสระบุรี จึงขอประกาศแจ้งให้ทราบว่า กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านที่ดินในเขตจังหวัดสระบุรี จำนวน ๑ ทุ่ง (ทุ่งบางกุ่ม) พื้นที่อำเภอดอนพุด ตำบลบ้านหลวง ตำบลดอนพุด ตำบลดงตะงาว และอำเภอหนองโดน ตำบลดอนทอง เพื่อประโยซน์ในการลดยอดปริมาณน้ำหลากที่เกิดขึ้น
เพื่อป้องกันอุทกภัยในภาพรวม โดยจะพิจารณานำน้ำเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตามสภาพอุทกวิทยาที่เกิดขึ้นจริง และคาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกได้ภายในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมกับประชาชนภายในพื้นที่
ทั้งนี้ ในการเริ่มดำเนินการรับน้ำเข้าที่ดิน (ทุ่งรับน้ำ) กรมชลประทานจะแจ้งเตือนการนำน้ำเข้าทุ่งรับน้ำในแต่ละทุ่งให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นให้ทราบ และจะมีมาตรการในการติดตามสถานการณ์น้ำในทุ่งเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ร่วมกำหนดกับป ระชาชนในพื้นที่จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
3.นนนทบุรี
หนังสือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี #ด่วนที่สุด ที่ นบ (กอปภ.จ.) 0021/ว 3760ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 .#แจ้งเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น #ช่วง 8-13 ตุลาคม 2565 นี้ #ขอให้ประชาชนริมน้ำยกของขึ้นที่สูง
#ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 - 0.30 เมตร ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อัตรามากกว่า 𝟮,𝟵𝟬𝟬 - 𝟯,𝟬𝟬𝟬 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว (แนวฟันหลอ) พื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนทบุรี
4.ปทุมธานี
ที่ 0027/ว.16589 ลง วันที่ 7ตุลาคม 2565
ให้เตรียมรับมือ #แม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ในช่วง วันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 โดยให้
-ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริม
แม่น้ำและเสริมคันบริเวณ จุดเสี่ยงต่างๆ
-เตรียมเครื่องจักร และเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในทันที
-ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือข่าวสาร แก่ผู้เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจในแม่น้ำฯลฯ (รายลเอียดตามประกาศแนบ)
@ประเมินนมวลน่ำผ่านมุม "อนุสรณ์ ตันติวุฒิ" รอง ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 10 ลองติดตาม
ณ วันที่ 8ตุลาคม2565(เวลา05.00น.) สถานการณ์น้ำ เมื่อวานนี้ ฝนตกหลายพื้นที่ ปริมาณฝนสูงสุด จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ(มีหน่วย มม. หากมากกว่า 15 มม.ถือว่าหนักแล้วสำหรับพื้นที่ที่น้ำท่วมขณะนี้) จ.นครสวรรค์ อ.เมือง 127 มม (น้ำไหลลงเจ้าพระยา) จ.สระบุรี อ.แก่งคอย 26 มม (น้ำไหลลงแม่นน้ำป่าสัก ท้ายเขื่อน) กทม.เขตคลองเตย 122 มม (ซ้ำเติมการระบายน้ำ) จ.ลพบุรี อ.เมือง 15 มม (อาจจะกระทบคันดินแนวป้องกัน ต้องเสริมความแข็งแรง เฝ้าระวังตลอด 24 ชม.)
เขื่อนเจ้าพระยา ระบาย 2,973 ลบ.เมตร/วินาที(วานนี้2,960 ลบ.เมตร/วินาที) ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี เพิ่ม 2 ซม. จ.อ่างทอง ทรงตัว อ.บางบาล เพิ่ม 2 ซม.
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบาย 861ลบ.เมตร/วิยาที (เมื่ออวาน 830 ลบ.เมตร/วินาที) ระดับน้ำแม่น้ำป่าสัก อ.แก่งคอย เพิ่ม 7 ซม. อ.เมือง สระบุรี เพิ่ม 1 ซม. อ.ท่าเรือ เพิ่ม 2 ซม.
เขื่อนพระราม6 ยกบานพ้นน้ำ ปริมาณน้ำผ่าน เมื่อเวลา 05.00 น.1,052 ลบ.ม./วินาที (วานนี้1,048 ลบ.เมตร/วินาที)
การรับน้ำช่วยแบ่งเบาแม่น้ำเจ้าพระยา -แม่น้ำลพบุรี (หมายเลข 3 -ในรูป) เปิดรับน้ำจากเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี 35 ลบ.ม/วินาที -คลองบางแก้ว(หมายเลข 4 ในรูป)รับน้ำเจ้าพระยา จ.อ่างทอง 67ลบ.ม/วินาที -ประตูน้ำบางกุ้ง(หมายเลข5 ในรูป) 43 ลบ.ม/วินาที
นอกจากนี้ยังมีการรับน้ำเข้าทุ่งท่าวุ้ง ที่ อ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี ดำเนินการตั้งแต่ 6 ตค.65 (จะรายผลล่าสุดต่อไปในช่วงก่อนเที่ยง)โดยประมาณรับน้ำเข้าทุ่งท่าวุ่ง วันละ 2-3 ล้าน ลบ.ม/วัน จะช่วยบรรเทาสถานการณ์คลองชัยนาท-ป่าสัก ที่มีน้ำเดินความจุแล้ว(ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 132% มีการเสริมคันป้องกันน้ำล้นตลิ่ง)
ขณะนี้ สำนักงานชลประทานที่10 เฝ้าติดตามระดับน้ำในทุ่งท่าวุ้ง ระดับน้ำแม่น้ำลพบุรี(ที่รับน้ำจากเจ้าพระยาเข้ามา อย่างใกล้ชิด) เพื่อป้องกันผลกระทบ จะรายผลให้ทราบเป็นระยะ
@ริมเจ้าพระยาอ่วม!ทั้งวัด และบ้านเรือน
จากการเพิ่มการระบายน้ำเหนือ ผนวกกับน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้สถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถูกน้ำท่วมทั้งวัด และบ้านเรือน โดยในบางจุดขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าระดับแนวกำแพงด้านใน ทางออกเดียวที่เหลืออยู่คือการผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
@กรมชลฯ ใช้ ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำเจ้าพระยา ช่วงน้ำทะเลลง
ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 - ปัจจุบัน มีการระบายน้ำออกสู่ทะเลแล้วทั้งสิ้น 1,589.60 ล้านลูกบาศก์เมตร
กรมชลประทาน น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเหนือโดยใช้ระบบชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นทางลัดในการระบายน้ำเหนือ จะช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนหนึ่งลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้รวดเร็วขึ้น โดยการร่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตรเท่านั้น เพราะระยะทางจากปากคลองถึงปลายคลองของคลองลัดโพธิ์มีระยะสั้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำได้
สำหรับการบริหารจัดการน้ำของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ กรมชลประทาน จะเปิดบานระบายของประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างส่วนหนึ่งออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยในขณะนี้จะทำการระบายน้ำในช่วงที่น้ำทะเลลงเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่น้ำทะเลขึ้นระดับน้ำทางด้านท้ายน้ำยังสูงกว่าด้านน้ำเหนือ โดยตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 - ปัจจุบัน มีการระบายน้ำออกสู่ทะเลแล้วทั้งสิ้น 1,589.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาในการรองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมาอีกในระยะต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อพ้นช่วงฤดูน้ำหลากแล้ว กรมชลประทาน จะปิดบานระบายของประตูระบายน้ำ เพื่อชะลอน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำผ่านประตูระบายน้ำเข้าไปส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย..!!!
CLOSE-UP THAILAND
สื่อเพื่อการพัฒนาประเทศไทย -รายงาน
Comments