โดย สิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาการล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ในขณะที่ทั่วโลกเองต่างเดินหน้าบริหารจัดการสถานการณ์จากวิกฤตโควิดปรับสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการปรับเปลี่ยนด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจากช่วงเวลาของการระบาด และช่วงเวลาของการกักตัวในบ้าน
ในทางปฏิบัติแม้ทุกกิจกรรมจะทยอยกลับคืนสู่สภาพปกติ แต่ผู้บริโภคเกือบทั้งหมดก็ยังคงพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ต่อไป ข้อมูลจาก UOB ASEAN Consumer 2021 Study พบว่าร้อยละ 98 ของผู้บริโภคชาวไทยยังเลือกที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าจิปาถะต่างๆ ร้อยละ 95 เลือกที่จะใช้บริการส่งอาหาร และร้อยละ 93 ซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มผ่านร้านค้าออนไลน์ ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยทุกเจเนอเรชันมีการใช้งานสื่อออนไลน์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่เกิดการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคน Gen Z ที่พบว่ามีการใช้งาน YouTube ถึงร้อยละ 86 และ Facebook ร้อยละ 74 สอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่พบว่าคน Gen Z ยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันสูงที่สุดโดยมียอดการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 5 นาที
จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า SMEs สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยหนุ่มสาวซึ่งพวกเขาอาจยังไม่เคยทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าวัยนี้มาก่อนและกลุ่มคนวัยที่มีอายุมากกว่า เช่น วัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มมีอำนาจในการซื้อที่สูงกว่า การศึกษาว่าสิ่งใดที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้และสามารถนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มาใช้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจจะกลายเป็นสิ่งสำคัญของ SMEs ที่กำลังมองหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ
สำหรับโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) โดย ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ FinLab ในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การให้คำแนะนำด้านการตลาดดิจิทัลแบบครอบคลุมทุกเจเนอเรชันเพื่อช่วย SMEs ในการใช้ประโยชน์จากโอกาสทองนี้ให้ได้มากที่สุด
Metaverse - ประตูสู่มิติใหม่ของธุรกิจ
ปัจจุบัน แบรนด์และผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจใน Metaverse หรือจักรวาลนฤมิตร ที่เป็นการนำเอาประสบการณ์แบบเสมือนจริงมาสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนเจเนอเรชันวัยหนุ่มสาวซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องโลกออนไลน์และเติบโตมากับอารยธรรมโลกดิจิทัลมากกว่าคนวัยอื่นๆ
ผลสำรวจในหัวข้อ The Metaverse Mindset Consumer Shopping Insights ที่จัดทำโดย Obsess ระบุว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคที่เคยเยี่ยมชมร้านค้าเสมือนจริงจะเลือกตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าด้วย โดยการสำรวจดังกล่าวยังพบว่ากว่าร้อยละ 75 ของนักชอป Gen Z สั่งซื้อสินค้าดิจิทัลภายในวิดีโอเกมและร้อยละ 60 คิดว่าแบรนด์สินค้าควรหันมาเปิดการขายบนแพลตฟอร์ม Metaverse
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Techsauce Media, Thailand ผู้นำด้านสื่อสำหรับสตาร์ตอัปสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์กร กล่าวว่า “Metaverse ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการค้าขายสินค้าหรือบริการ แต่ยังเป็นเหมือนชุมชนที่ธุรกิจและแบรนด์สินค้าต่างๆ จะเข้ามาร่วมกันสร้างเสริมประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับลูกค้าของพวกเขาได้ เป็นการนำไปสู่การสร้างความภักดีต่อแบรนด์และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี Metaverse ณ เวลานี้ยังคงอยู่ในช่วงของการริเริ่มบุกเบิก ดังนั้นสำหรับ SMEs แล้วนี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการที่จะนำแนวความคิดแบบ Test-and-learn มาประยุกต์ใช้ ด้วยการเปิดใจให้กว้างในการทดลองใช้งาน Metaverse จากนั้นก็เร่งฟื้นตัวจากความผิดพลาดใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นและนำเอาความสำเร็จที่ได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Gamification – สุดยอดเครื่องมือกระตุ้น Engagement
ภาณุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Nudge Thailand ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและประสบการณ์ลูกค้า กล่าวว่า โดยธรรมชาติมนุษย์มีสัญชาตญาณการแข่งขันที่ต้องการเอาชนะ การนำสภาพแวดล้อมของเกมมาบรรจุลงในสินค้าและบริการจะช่วยกระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นต่อการได้รับรางวัลตอบแทน -
วิธีง่ายๆ สำหรับ SMEs ในการเริ่มต้นใช้ Gamification คือต้องเข้าใจในข้อมูลความชอบและความต้องการของลูกค้าเป้าหมายจากนั้นก็สร้างแคมเปญที่ง่ายและสนุกขึ้นมาพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เข้าร่วมและมีของรางวัลตอบแทน
Gamification เป็นเทคนิคที่ SMEs สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเป้าหมายและเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกได้ ยิ่ง SMEs มีความเข้าใจในตัวกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้นเท่าใด การส่งเสริมแคมเปญก็ยิ่งเกิดประสิทธิผลมากขึ้นเท่านั้น
Data-driven mindset – กุญแจสู่ความสำเร็จ
เมื่อ SMEs เข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ถูกรวบรวมมาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทางดิจิทัลแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าข้อมูลที่พวกเขาได้รับมานั้นผ่านการวิเคราะห์และได้รับการจัดการมาอย่างเหมาะสมแล้ว ยิ่งธุรกิจได้รับข้อมูลที่รวบรวมมากขึ้นเท่าไหร่ ปริมาณของข้อมูลเชิงลึกที่พวกเขาจะได้รับก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และนั่นจะทำให้พวกเขาสามารถส่งมอบบริการที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าได้
การเลือกใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจ โซลูชัน และโปรโมชัน ควรมีการพิจารณาหลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากทุกแหล่งเพื่อค้นหาคำตอบที่ใช่ที่สุดสำหรับลูกค้า ดังนั้น Data-driven mindset จึงสามารถช่วยในการคัดสรรแนวทางการตลาดและแคมเปญที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายและบรรลุผลลัพธ์ทางธุรกิจได้
Comments