EEC
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) นำโดย ดร.อภิชาติบุตร รอดยัง รักษาการผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด เกษตรอำเภอจังหวัดตราด เจ้าหน้าที่สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนคุณภาพด้วยแอปพลิเคชัน KASETTRACK . นายชยุทกฤดิ กล่าวว่า จังหวัดตราด เป็นจังหวัดที่ทุเรียนออกก่อนจังหวัดอื่น หากบริหารจัดการการผลิต และการตัดทุเรียนได้จะช่วยให้อุตสาหกรรมทุเรียนไทยมีความยั่งยืน โดย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้มอบนโยบายการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือช่วยในการติดตามบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ หรือล้ง และผู้ส่งออกทุเรียน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับ depa นำร่องชูโมเดล Durian Road @ Trat “จากสวนสู่ล้ง ออกก่อน คุณภาพแสนดี ที่ตราด” . การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน KASETTRACK ในพื้นที่ภาคตะวันออก “ตราดโมเดล” โดยจังหวัดตราดมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 4,000 ราย ซึ่ง นายชยุทกฤดิ ระดมเจ้าหน้าที่ทั้งเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลกว่า 30 นายให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในการบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชัน KASETTRACK โดยเฉพาะวันที่ทุเรียนดอกบาน วันเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และเลขที่ใบรับรองจีเอพี . สำหรับแอปพลิเคชัน KASETTRACK ถูกพัฒนาโดยบริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย หนึ่งในผู้ให้บริการดิจิทัลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก depa ซึ่งเป็นการยกระดับการบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูก และการผลิตทุเรียนคุณภาพ จาก GAP สู่ GAP Plus เพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 (Zero Covid) ในสวนทุเรียนไว้ในสมาร์ทโฟน ซึ่งแอปพลิเคชัน KASETTRACK สามารถนำส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น พื้นที่เพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิต วันหมดอายุของใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และจังหวัดตราด ซึ่งถือเป็น City Data Platform ของจังหวัดตราดในการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพภายในจังหวัด พร้อมยกระดับสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต่อไป
Comments