Technology
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โชว์ผลงานวิจัย “แม่เหียะโมเดล” จากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังได้รับรางวัล Best Paper Award จากงาน DGTI-Con 2022 อวดศักยภาพนักวิชาการไทยไปทั่วโลก พร้อมประเดิมลงฐานข้อมูล Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และตีพิมพ์ใน Journal of Intelligent Informatics and Smart Technology
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.)หรือ DGA กล่าวว่า ตามที่สพร. ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ DGTI-Con 2022 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับภาครัฐ และได้เปิดให้มีการส่งผลงานวิจัยหรือบทความวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปเผยแพร่ในฐานข้อมูลนานาชาติของ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) มีผู้ส่งรายงานทั้งหมด 63 ผลงาน ผ่านเข้าการนำเสนอผลงานในงาน 22 ผลงานโดยผู้นำเสนอทั้ง 22 ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์เข้าฐานข้อมูลนานาชาติของ IEEE
สำหรับผลงานที่ได้รางวัล Best Paper Award : Digital Transformation of Public Service by Maehia Municipality เป็นผลงานจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นประจำปี 2563 และได้มีการพัฒนาโครงการ “แม่เหียะโมเดล” เป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) , ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ E-OFFICE , ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ , ระบบหนังสือรับรองการแจ้งฯออนไลน์ และระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ชาวแม่เหียะได้รับ คือ ประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลา โดยมีช่องทางการให้บริการประชาชน ผ่านระบบออนไลน์ (เว็บแอปพลิเคชัน) หรือ สแกนผ่าน QR Code ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการพร้อมกันได้หลายคน อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของเทศบาล/อบต. ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ผลของการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำให้มีระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดเก็บหนังสืออย่างเป็นระบบ/ค้นหา/ตรวจสอบการสั่งการ/สถานะการดำเนินการ/หนังสือตกหล่น ขณะที่เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ เช่น รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ การแจ้งซ่อมต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า “แม่เหียะโมเดล” ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐ ในการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการแบบเว้นระยะห่างได้
ส่วนความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ดีจีเอ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการศึกษาในการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มหุ่นยนต์สนทนาอัตโนมัติ หรือแช็ตบ็อตสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก ในการถามตอบกึ่งอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ นำไปสู่ระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และต้นแบบนวัตกรรมที่หลากหลายตามความต้องการ สำหรับงานบริการประชาชนให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ มากขึ้น
“หลังเปิดทดสอบเทคโนโลยีแช็ตบ็อตก่อนนำไปใช้งานจริงเมื่อต้นปีที่ผ่านมาคาดว่า ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้จะพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ จากหน่วยงานที่ยื่นคำขอใช้งาน 80 แห่ง ปัจจุบันได้มีการนำร่องใช้งานแล้ว 20 แห่ง คาดว่า ภายในปีนี้จะมีหน่วยงาน รัฐใช้แช็ตบ็อตมากถึง 200 แห่ง” ดร.สุพจน์ กล่าว
ดร.สุพจน์ กล่าวว่า ดีจีเอ ได้เตรียมพร้อมหน่วยงานภาครัฐของไทย ในการนำเอไอมาใช้เพื่อให้บริการประชาชน บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ จึงมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่ ดีจีเอ จะเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาให้กับนักเทคโนโลยี เพื่อลดอุปสรรค ในการพัฒนา และทำลายข้อติดขัดต่างๆ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้ดีจีเอได้พัฒนาระบบAutoTagและโปรแกรมจำเสียงอัตโนมัติ ที่นำเอานวัตกรรมเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ ผนวกกับเทคโนโลยีเครื่องจักรเรียนรู้ (แมชชีนเลิร์นนิ่ง) เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบที่สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดหมวดหมู่ ข้อความเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐแบบอัตโนมัติได้อย่างเรียลไทม์ รวมทั้งการจัดทำหนังสือ Digital innovation in Local Government ที่เป็นเหมือนไกด์ไลน์ในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อีกด้วย
Comments