top of page

FAO ประเมินค่าป่าไม้อย่างไร?


ที่ประเทศไทยของเราเริ่มกล่าวถึงเรื่องไม้มีค่าเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เราพึงมาศึกษาว่า FAO ของสหประชาชาติวางหลักการประเมินค่าป่าไม้ไว้อย่างไร

FAO หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ได้วิเคราะห์เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจของไม้ไว้อย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนในฐานะที่เคยทำงานโครงการที่ปรึกษาของ FAO จึงขอถ่ายทอดมาให้เป็นประโยชน์ต่อการประเมินค่าไม้มีค่าในไทย ทั้งนี้ในบทความของ FAO เรื่อง Valuing the Forest and its Uses: the Available Techniques and Their Usefulness in Practice” (https://bit.ly/2Zbt1Na) ให้คำอรรถาธิบายที่ดี ที่เป็นสากลในการประเมินค่าทางเศรษฐกิจของป่าไม้

ในเบื้องต้นนี้เราพึงเข้าใจร่วมกันก่อนว่าป่าไม้ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่ดินอื่น เช่น ทุ่งเลี้ยงสัตว์ หนองบึง ต่อเมื่อมีการปรับปรุงสภาพเพื่อการเกษตรกรรม ก็จะมีค่ามากขึ้น เพราะสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ถ้าอุปทานล้นตลาดก็อาจทำให้มูลค่าของที่ดินเกษตรลดลงได้ ในขณะเดียวกันหากที่ดินเกษตรสามารถใช้พัฒนาที่อยู่อาศัยได้ มูลค่าก็จะสูงขึ้น จนในที่สุดหากสามารถนำที่ดินมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ก็จะได้มูลค่าสูงสุด โดยไล่ไปตั้งแต่การทำโรงงาน สำนักงานจนถึงศูนย์การค้า

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 FAO ก็เพิ่งออกบทความเรื่อง “Making forest concessions more transparent, accountable and pro-poor” (https://bit.ly/2IdJ6IY) กล่าวถึงการทำสัมปทานตัดไม้ในป่า ซึ่งโดยมากหมายถึงป่าปลูก เช่นในเขตป่าอะแมซอน แต่สำหรับป่าไม้ธรรมชาติ เราก็สามารถประเมินค่าได้เช่นกัน ในบทความ “ไม้ในป่าตีค่าอย่างไร” (https://bit.ly/2HXQ3AF) ของผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีชายขอบป่าแม่วงก์ที่จะใช้สร้างเขื่อนแม่วงก์ไว้ นอกจากนี้หากเราสามารถขุดล้อมต้นไม้ไปขายได้ มูลค่าก็อาจสูงขึ้นอีก (https://bit.ly/2D7JKY6)

การประเมินค่าตามคำแนะนำของ FAO เน้นถึง

1. ถ้ามีราคาตลาด ก็ต้องดูว่าราคานั้นต้องตามความประสงค์จะซื้อ (Willingness to pay) หรือไม่ ไม่ใช่ราคาของผู้จะขายถ่ายเดียว

2. ถ้ามีราคาตลาด แต่ว่าราคานั้นไม่ต้องตามความประสงค์จะซื้อ ก็ต้องวิเคราะห์ถึง “ราคาเงา” (Shadow price) ที่น่าจะใกล้เคียงราคาตลาดที่สุด

3. ถ้าไม่มีราคาตลาด แต่มีสิ่งที่ใช้ประมาณการแทนมูลค่าตลาดได้ ก็สามารถวิเคราะห์ “ราคาเงา” ได้

4. ถ้าไม่มีราคาตลาด และไม่มีสิ่งที่ใช้ประมาณการแทนมูลค่าตลาดได้ ก็อาจใช้วิธีต้นทุนหรืออื่นๆ

โดยนัยนี้เราต้องใช้หลักฐานด้านราคาตลาดเป็นหลัก การวิเคราะห์อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ ราคาตลาดอาจเริ่มจากราคาไม้ดอกต้นหนึ่งหรือหลายต้นแบบขายเหมา ราคาไม้ขุดล้อมต้นหนึ่งเมื่อแรกซื้อ รวมต้นทุนขุดล้อม ต้นทุนขนส่ง ต้นทุนอภิบาลรอผู้ซื้อ ต้นทุนการขนส่งไปปลูกใหม่ และรวมค่าปลูกด้วย เป็นต้น ตลอดจนราคาซุงท่อนหนึ่งตามชนิด ขนาด คุณภาพและความนิยมตามยุคสมัย (https://bit.ly/2UVMvCP) จนกระทั่งมูลค่าป่าทั้งผืนที่จะได้สัมปทานทำไม้เพื่อขายในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งรายได้อื่นที่พึงได้จากป่าไม้ เป็นต้น

ในการประเมินค่าป่าไม้ในเชิงสากล FAO ให้พิจารณาจากการเปรียบเทียบราคาตลาดโดยตรงจากไม้ในป่า ของป่า และสินค้าและบริการอื่นจากป่านั่นเอง ในสหรัฐอเมริกา ป่าไม้ถึง 58% เป็นของเอกชน (https://usaforests.org) จึงมีการซื้อขาย “ป่า” มีข้อมูลตลาดที่เชื่อถือได้ แต่ในกรณีประเทศไทยยังไม่ถึงเวลา แต่ในอนาคต ตาม พ.ร.บ.สวนป่าฉบับใหม่ เอกชนโดยเฉพาะรายใหญ่จะสามารถเช่าที่หลวงไปปลูกป่าเพราะมีกำลังทรัพย์มากกว่า ดังนั้นในอนาคตป่าไม้ไทยอาจจะอยู่ในกำมือของภาคเอกชน (รายใหญ่) เมื่อนั้นเราก็จะสามารถประเมินค่าป่าไม้โดยวิธีเปรียบเทียบตลาดได้

แต่หากไม่มีราคาตลาด เทคนิคเหล่านี้ จะได้รับการนำมาใช้

1. Residual Values หรือมูลค่าคงเหลือได้แก่ มูลค่าจากต้นซุงที่สามารถตัดได้จากปาลบด้วยต้นทุนค่าทำไม้ทั้งหมด

2. Value of production increases หรือ มูลค่าเพิ่มของสินค้า เช่นในอดีตเราทราบมูลค่าของป่าไม้แล้ว แต่ขณะนี้ราคาของผลผลิต เช่น ท่อนซุงเพิ่มขึ้น 5% ก็อาจประเมินโดยนัยยะว่ามูลค่าของป่าไม้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องพิจารณาต้นทุนในการชักลากไม้ด้วย

3. Surrogate prices (ราคาทดแทน) เช่น ราคาของไม้ฟืนขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัดก๊าดในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ต้องปรับค่าความร้อนที่จะได้มาด้วย

4. Opportunity cost (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) คือมูลค่าขั้นต่ำของการเสียโอกาสจากสินค้าและบริการที่จะได้จากป่า

5. Replacement cost or cost avoided (ต้นทุนค่าทดแทน) จากการปลูกป่าขึ้นใหม่ หรือในกรณีเขื่อนก็คือมูลค่าสูงสุดที่จะได้จากการมีเขื่อนลบด้วยต้นทุนในการขุดลอกความตื้นเขินของตัวเขื่อน

6. Hedonic pricing Model (HPM) การศึกษามูลค่าสิ่งแวดล้อมเมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นคุณลักษณะ (Characteristic) อย่างใด อย่างหนึ่งของสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าในตลาด HPM มักถูกนำไปใช้ในการศึกษาตลาดอสังหาริมทรัพย์และ ตลาดแรงงาน ดังนั้นวิธี HPM จึงประกอบด้วย 2 แบบจำลอง คือ 1) แบบจำลองที่ใช้ราคาอสังหาริมทรัพย์และ ราคาที่ดิน (Property and Land Value Model) และ 2) แบบจำลองที่ใช้ความแตกต่างในค่าจ้าง (Wage Differential Model) HPM เป็นการประเมินราคาแอบแฝง (implicit price) ของลักษณะเชิงคุณภาพที่ประกอบรวมกันเป็นราคาโดยรวมของสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกัน (differentiated product) มาใช้ในการประเมินมูลค่าคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมในบริเวณที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศ นํ้า ระดับเสียง ปริมาณขยะมูลฝอย ฯลฯ (https://bit.ly/2IksFyw)

7. Travel cost ต้นทุนในการเดินทางไป (เที่ยวชม) ถ้าป่าเขาในสภาพที่ใกล้เคียงกันแต่อยู่ไกลเกินก็จะมีมูลค่าลดลงตามลำดับเพราะความไม่สะดวกในการเดินทางไปเที่ยวเล่นนั่นเอง

8. Contingent valuation ใช้ในกรณีที่ไม่มีราคาตลาดใดๆ เลย โดยพิจารณาความประสงค์ที่จะจ่ายและที่จะรับ (ดูเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2GmKo6c)

โดยสรุปแล้วในการประเมินคุณค่าของป่าไม้ ไม้ สิ่งแวดล้อม ของป่า สินค้าและบริการจากป่า และอื่นๆ ถึงต้องใช้ราคาตลาดเป็นหลัก และมีเทคนิควิธีการที่เป็นสากล พร้อมคำอธิบายอย่างชัดเจน มาประกอบการประเมินค่าทรัพย์สิน



การประเมินค่าป่าไม้ในญี่ปุ่น ป่าไม้ถือเป็นทรัพยากรสุดหวงแหนอันหนึ่งของประเทศ ญี่ปุ่นมีพื้นที่ดินเพียง 364,485 ตารางกิโลเมตร หรือเป็นพื้นที่เพียง 71% หรือราวสองในสามของประเทศไทย แต่กลับมีพื้นที่ป่าถึง 69% (https://bit.ly/KY7jEY) ในขณะที่ไทยเรามีพื้นที่ป่าเพียง 37% (https://bit.ly/1nk5eRW) เท่านั้น อันที่จริงไทยอาจมีพื้นที่ป่าเหลือน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นทางการนี้ก็ได้ เพราะไทยมีป่าเขาหัวโล้นเต็มไปหมด สาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นมีป่าเขามากเป็นพิเศษก็เพราะภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่า ญี่ปุ่นจึงรักษาป่าไม้ไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดพร้อมกับการปลูกจิตสำนึกของประชาชนอย่างจริงจัง แต่สำหรับในกรณีประเทศไทยและเรายังมักได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายทำลายป่าเสียเอง ในประเทศญี่ปุ่นก็มีมาตรฐานและแนวทางการประเมินค่าป่าไม้เช่นกัน เขาวางหลักเกณฑ์และหลักการไว้น่าสนใจไม่น้อย ในโอกาสที่ประเทศไทยของเราให้ความสนใจเกี่ยวกับการประเมินค่าต้นไม้ป่าไม้มากขึ้น หลักเกณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการประเมินค่าป่าไม้ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินอันมีค่า มาตรฐานของญี่ปุ่นนั้นอันที่จริงก็ใช้ของสหรัฐอเมริกา โดยในเรื่องนี้ ปรากฏว่ามาตรฐานครั้งแรกของญี่ปุ่นกำหนดไว้เมื่อปี 2507 และมาตรฐานครั้งล่าสุดออกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2557 โดยกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค การขนส่ง และการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) การปรับปรุงมาตรฐานกระทำทุก 5 ปี ดังนั้นในปี 2563 คงจะมีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการปรับปรุงเพียงถ้อยคำเล็กน้อยเป็นสำคัญ ในเบื้องต้น ในการซื้อขายที่ดินที่เป็นป่าไม้นั้น นอกจากเป็นที่ดินแล้วยังมีป่าไม้ติดตรึงอยู่ในที่ดินนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินป่าไม้ผืนหรือส่วนนั้น การซื้อขายเปลี่ยนมือมักเกิดในกรณีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ของส่วนราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หรืออาจมีการซื้อขายเปลี่ยนมือในกรณีอื่นใดก็ตามก็จำเป็นต้องตีมูลค่าของป่าไม้ให้ชัดเจนและเป็นธรรม ในการประเมินค่าป่าไม้ หลักการในเบื้องต้นนั้น: 1. พิจารณาจากผลประโยชน์ซึ่งประเมินค่าเป็นตัวเงินที่จะได้รับจากต้นไม้และผืนป่า และอีกแนวทางหนึ่งก็คือการประเมินด้วยวิธีต้นทุนของการสร้างผืนป่าขึ้นมาทดแทนใหม่ 2. ป่าประกอบด้วยที่ดินและต้นไม้ ในแง่หนึ่งเราจึงควรแยกมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ เช่น ซุง ออกมาให้เห็นชัดเจนด้วย 3. มูลค่ามาจากการพิจารณาราคาที่เคยซื้อขาย ราคาที่จะซื้อจะขาย ความคาดหวังต่อราคา ราคาที่คาดหวังว่าจะซื้อจะขายได้ในอนาคต ต้นทุนค่าสร้างทดแทน และอื่นๆ 4. ในการประเมินต้นไม้ ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ รูปทรงของต้นไม้ อายุของต้นไม้ คุณภาพหรือเกรดของไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ปริมาตรไม้ ความยาวของท่อนไม้ เป็นต้น 5. การประเมินค่ายังคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติจากการมีป่าไม้มาประกอบด้วย สำหรับวิธีการประเมินค่าทรัพย์สิน ใช้วิธีดังนี้: 1. การประเมินค่าโดยวิธีต้นทุนนั้นคำนึงถึง ต้นทุนโดยรวมของค่าใช้จ่ายสุทธิในการสร้างต้นไม้และบ่าไม้ในลักษณะของการปลูกป่าขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ยังรวมถึงต้นทุนในการก่อสร้าง เช่น ถนนเพื่อการบำรุงรักษาป่าหรืออื่นใดที่จำเป็นต่อการดูแลป่าไม้ในอนาคตอีกด้วย 2. การประเมินค่าจากราคาที่คาดหวังในฤดูกาลตัดฟันในอนาคต ราคาดังกล่าวนี้วิเคราะห์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาในอดีตที่ผ่านมานั่นเอง 3. การประเมินค่าโดยวิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า โดยพิจารณาจากรายได้สุทธิในอนาคตหารด้วยอัตราผลตอบแทนในการลงทุนสำหรับป่าไม้พื้นที่ที่ทำการประเมิน ในการสำรวจวิจัยเพื่อการประเมินค่าป่าไม้นั้น ผู้ประเมินค่ะยังต้องพิจารณาถึง 1. ราคาตลาดของไม้ซุง ไม้แปรรูป 2. รายได้ที่จะได้จากผืนป่า 3. ขนาดของป่าและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4. การตัดออกบางส่วนของพื้นที่ป่าไม้เช่นในกรณีการตัดถนน 5. การเสื่อมค่าหรือการด้อยค่าลง ของผืนป่า (ถ้ามี) จากการตัดผืนป่า มาตรฐานของการประเมินค่าป่าไม้ในญี่ปุ่นจึงมีโดยสังเขปข้างต้น อย่างไรก็ตามในที่นี้เป็นการสรุปมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้แปลอย่างละเอียด และในมาตรฐานนี้ก็ไม่มีส่วนที่แสดงถึงวิธีการคำนวณซึ่งเป็นส่วนที่ปรากฏอยู่ในมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินหลักอยู่แล้ว มาตรฐานการประเมินค่าป่าไม้ของญี่ปุ่นจึงเป็นเสมือนแนวทางหรือข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติให้ครบถ้วนเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินให้เชื่อถือได้ สำหรับในการประเมินค่าทรัพย์สินภาคปฏิบัติโดยเฉพาะผืนป่าขนาดใหญ่ ควรมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้และสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการวิเคราะห์เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้วย ถือเป็นการปฏิบัติวิชาชีพแบบสหศาสตร์ ( Interdisciplinary Approach) เมื่อผ่านการศึกษาที่รอบด้านแล้ว ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสมควรเป็นผู้ให้มูลค่าในฐานะนักวิชาชีพด้านการประเมินค่าทรัพย์สินโดยตรง

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page