top of page

Mission: Impossible!ฉบับเศรษฐา:เชิญ4 แบงก์ใหญ่ที่ทำกำไรเกิน1หมื่นล้านไตรมาส1ปี67ไตรมาสเดียวฟันกำไรรวมกัน46,369ล้านบาท เพื่อลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางและปล่อยกู้

เช้านี้ ​นายกฯ เชิญผู้บริหาร 4 แบงก์ใหญ่ “ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงไทย และกรุงเทพ” หารือลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ระบุแนวโน้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ย้ำไม่ได้กดดันให้เกียรติให้เวลาแบงก์พิจารณาตามความเหมาะสม



วันที่ 23 เมษายน 2567 ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เมื่อเช้าวันนี้ ตนเองได้เชิญผู้บริหารธนาคาร จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายชาติศิริ  โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ มาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจทั่ว ๆ ไป โดยได้พูดคุยกันว่าสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทุกคนทราบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง 


นายกฯ กล่าวว่า ตนเองได้ขอร้องซึ่งเป็นการพูดคุยในแบบคนที่เคยรู้จักกันมากว่า 10 ปี ตั้งแต่อยู่ในวงการมา โดยขอร้องให้แบงก์ใหญ่ ทั้ง 4 แห่ง พิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งทั้ง 4 แห่ง รับปากจะไปพิจารณาในเรื่องดังกล่าว อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่ารัฐบาลเห็นปัญหา เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องดอกเบี้ย ทั้งนี้ ตนเองได้มีการเชิญมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว แต่เพิ่งจะสะดวกพร้อมกันในเช้าวันนี้ อยากให้มีการพูดคุยกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแข่งขันทางด้านธุรกิจหรือว่าชิงดีชิงเด่นว่าใครลดมากหรือน้อยกว่า อยากให้ทุกท่านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วมาพิจารณาดูว่าสามารถที่จะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร


นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ไม่มีการกำหนดระยะเวลา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการให้เกียรติกัน และเป็นเรื่องของคนที่เคยอยู่ในวงการเดียวกันมาเกือบ 20 ปี รู้จักกันมาดี ตนเองมองว่าเรื่องดังกล่าวมองตาก็รู้ใจว่าเราต้องการอะไร ซึ่งหากสามารถทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ตนเองไม่ได้จะไปกดดันอะไร ต้องให้เกียรติ ทั้ง 4 ท่าน


โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า แนวโน้มในการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี ต้องให้แต่ละท่านมีเวลาพิจารณาทั้งระบบว่า ต้องดำเนินการอย่างไร โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากมีเวลาที่เหมาะสม จะมีการเรียกเชิญแต่ละท่านมาพูดคุยกันในส่วนนี้ต่อไป


อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า โอกาสที่คำขอร้องของนายกรัฐมนตรีได้รับการตอบสนองในทางบวกค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ชี้นำนโยบายเรื่องนี้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งยังมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ลดดอกเบี้ย เพราะประเมินว่า ไม่ได้เกิดประโยชน์กับรายย่อย เพียงแต่ช่วยลดภาระให้ธุรกิจรายใหญ่ จึงเป็นเหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป และธนาคารพาณิชย์ทั้งของเอกชน และรัฐก็ยึดกติกานี้เป็นสรณะ ดังนั้น การหารือในเรื่องนี้ให้บังเกิดผลจริง ต้องผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เชิญผู้บริหารทั้ง 4 ราย ไปที่บางขุนพรหม ไม่ใช่ที่ทำเนียบรัฐบาลเหมือนเหตุการณ์เมื่อเช้า เพราะทีนี้เป็นที่คุมกฎ ผ่อนคลายกติกา ขืนผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ตัดสินใจทำทะเล่อทะล่าขาอีกข้างมีหวังติดคุก ถ้าไร้ซึ่งกติกาแบงก์ชาติปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย


ดังนั้น เหตุการณ์เช้า23 เมษายน 2567 เป็นเพียงจิบกาแฟ หารือแนวโน้ม ทิศทางเศรษฐกิจประเทศรวม ๆ และถือโอกาสแนะนำตัวรมว.คลังคนใหม่ และฟังฟีดแบกคนวงการแบงก์ไปพร้อมๆ เท่านั้นเอง อย่างอื่นอย่าได้คิดหวัง!!!


อนึ่ง เราลองตามไปดูผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี2567 ของทั้ง 4 ธนาคารที่ผู้บริหารเบอร์1 เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้


-ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กำไรไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 13,485.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,744.66 ล้านบาท (เพิ่ม 25.55%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นผลเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย


-ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กำไรไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 11,078.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,011.85 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรที่ 10,066.60 ล้านบาท


-ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กำไรไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 10,523.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 394.36 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิที่ 10,129.29 ล้านบาท


-ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB มีกำไรไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 11,281.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285.64 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่กำไรที่ 10,995.38 ล้านบาท



Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page