top of page

MOI Forum : Sharing for SDGs มท.จัดเวทีเสวนา “ความสำเร็จการคัดแยกขยะและการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ

SDGs

MOI Forum : Sharing for SDGsมหาดไทย จัดเวทีเสวนา “ความสำเร็จการคัดแยกขยะและการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน” มุ่งเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วม "รักษ์โลก" เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

(9 พ.ย. 66) เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และนางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ร่วมเสวนา เรื่อง “ความสำเร็จในการคัดแยกขยะของกระทรวงมหาดไทยและการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชน” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืนด้วย “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ที่ได้มีการประกาศความสำเร็จการจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 14 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.61 ของครัวเรือนทั้งประเทศ และสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนได้เป็นประเทศแรกของโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ความความสำเร็จในการคัดแยกขยะของกระทรวงมหาดไทยและการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชนที่เป็นรูปธรรมก็เช่นกัน ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ บูรณาการภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ช่วยกันสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยมีท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมด้วยช่วยกัน "แม้ว่าการคัดแยกขยะของกระทรวงมหาดไทยและการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชนจะประสบความสำเร็จด้วยใจที่มุ่งมั่น Change for Good แล้วก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่าความสำเร็จในรูปแบบนี้จะยั่งยืนหรือไม่ จึงขอให้พวกเราได้มีความเพียรพยายาม ความมานะอดทน โดยน้อมนำหลักการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ว่า "ต้องมีความต่อเนื่อง มีความสม่ำเสมอติดต่อกัน มีระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร" และ "ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์" เราจึงจะมั่นใจได้ว่าจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ผู้นำท้องที่ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยึดถืออุดมการณ์ของการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ด้วยการเป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" ในการขับเคลื่อนความยั่งยืน อาทิ การปลูกผักสวนครัว การสวมใส่ผ้าไทย การเป็นต้นแบบในการที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็น Partnership โดยเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำในสังคม ได้เป็นแบบอย่างให้พี่น้องประชาชนได้เห็นหนทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน และท้ายที่สุดเมื่อได้ร่วมลงมือทำแล้ว เราทุกคนก็จะได้ร่วมรับประโยชน์ไปด้วยกัน นั่นคือได้ช่วยคนไทยทุกคนและมวลมนุษยชาติให้สามารถรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบ มท. ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ อปท. สามารถเชิญชวนและรับสมัครเด็กตั้งแต่อายุ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเพื่อเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ได้ และยังสามารถสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้มีการทำกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วม และการเป็นสมาชิกที่ดีผู้รักษาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งถือเป็นมิติยาฝรั่ง คือ การส่งเสริมในเบื้องต้น แต่ในมิติยาไทย คือ ในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอจะต้องเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้อาสาสมัครต่าง ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการสร้างจิตสำนึกให้คำว่า "รักษ์โลก" อยู่ในหัวใจของประชาชนทุกช่วงวัยจนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เมื่อประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ทุกลมหายใจเห็นแก่สิ่งแวดล้อม เห็นแก่โลกใบเดียวนี้แล้ว ก็จะหนุนเสริมก่อเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่น้อยมาก ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2562 โดยการนำของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนที่ 14 พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในขณะนั้น ได้เป็นผู้นำการรณรงค์ในเรื่องการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนให้ได้ครบ 100% ในทุกครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยเราดำเนินการไปแล้ว 99.6% นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่การจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น จะอาศัยเพียงแค่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ "ต้องดำเนินการโดยอาศัยผู้นำของทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่าย" เพื่อช่วยกันรณรงค์ทำให้เป็นแนวทางเดียวกัน ทำไปพร้อมกัน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะเกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ขับเคลื่อนอย่างอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง จนทำให้ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้แล้วใน 23 จังหวัด รวมเป็นจำนวนประมาณ 23 ล้านตันคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ในเรื่องการคัดแยกขยะ อปท. ต่าง ๆ ได้มีการจัดตั้งกองทุน "ธนาคารขยะรีไซเคิล" สามารถนำรายได้กลับสู่ชุมชน เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าได้แล้วกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่ง สถ. มีแผนที่จะขยายผลไปยัง อปท. ทุกแห่ง เพื่อทำให้ทุกพื้นที่มีกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านชุมชนจากขยะ และสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของประชาชนและชุมชน นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากพวกเราทุกคน เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่เรื่องยาก "เราทำสำเร็จให้เห็นแล้ว" และสามารถสร้างรายได้กลับสู่ท้องถิ่น เสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีความสามัคคี และมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการคัดแยกขยะรีไซเคิล หรือที่เรียกกันว่า “ธนาคารขยะ” ที่ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยกระบวนการตั้งแต่การเริ่มกำหนดเป้าหมาย การลงพื้นที่เพื่อถอดบทเรียน ปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการธนาคารขยะประสบความสำเร็จ รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดสวัสดิการชุมชนให้แก่คนในชุมชน และสามารถต่อยอดพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับความต้องการของท้องถิ่นในการตั้งธนาคารขยะ กฎระเบียบในการดำเนินการที่แตกต่างกันตามบริบทของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อประชาชนทุกคนเห็นเป้าหมาย (Goal) เป็นแบบเดียวกันแล้ว ก็จะสามารถร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันต่อไปได้ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนและบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีที่ผู้บริหาร ข้าราชการ ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวโก่งธนูได้มีโอกาสพบกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชนในขณะนั้น ทั้ง 2 ท่าน คือ คุณพ่อ คือคุณแม่ คือคุณครู ที่ทำให้รู้จักการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้เรียกว่า "ครบวงจร" โดยพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู การดำเนินการธนาคารขยะรีไซเคิลชุมชนสร้างแรงจูงใจให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก โดยพบว่าในปัจจุบันไม่มีเดือนใดเลยที่พี่น้องประชาชนขาดการส่งขยะเข้ามาในธนาคารขยะชุมชน และไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีกองทุนในการดำเนินการจัดการศพและให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 6 ปี โดยในขณะนี้กองทุนมีรายได้ปัจจุบันรวมแล้ว 20 กว่าล้านบาท ซึ่งถ้าหากทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ ก็จะทำให้ประชาชนในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศไทยมีรายได้จากขยะเพื่อจัดการสวัสดิการชุมชนไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญเท่ากับ "Passion ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อบต.โก่งธนู" ที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่หยั่งรากลึกไปในใจของพี่น้องประชาชนทุกคน ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แน่นอนว่าพวกเราทุกคนจะมีอายุราชการที่ก้าวไปสู่เวลาเกษียณอายุ หรือการหมุนเวียนตำแหน่ง หรือการลาออก หรือว่าหมดวาระไป แต่เราทุกคนต่างมีจิตสำนึกเดียวกัน คือ "รักษ์โลก" ที่ต้องถ่ายทอดให้เข้าถึงในจิตใจของพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่กับพี่น้องประชาชนที่เป็น Generation เดียวกับพวกเราเท่านั้น แต่เราต้องถ่ายทอดไปยังคน Generation ถัดไป "จากรุ่นสู่รุ่น" ด้วยการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้ทรงให้คำตอบไว้ว่า "ความสำเร็จเหล่านี้จะอยู่ที่หมู่บ้าน" และหมู่บ้านที่พึงปรารถนา ที่พวกเราทุกคนกำลังขับเคลื่อนสนองพระดำริ คือ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" จึงขอฝากความหวังไปยังท่านรองปลัดฯ ท่านอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ในฐานะ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับประเทศชาติของเรา" ต้องช่วยทำให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยในทุกหมู่บ้านได้มีวิถีชีวิตที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page