เน้นย้ำความร่วมมือกับภาคเอกชน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
วันที่ 1 พ.ย. 2566 เวลา 18.00 น. ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำในงาน Foreign Industrial Club Gala Dinner ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” (Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis)
"ช่วงเวลาหลายปีมานี้ไทยได้เผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตโดยเฉลี่ยเพียง 1.8% ต่อปี หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นจาก 76% ในปี 2555 เป็น 91.6% ในปี 2566 รวมถึงเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโรคโควิด-19 และการส่งออกหดตัวลง จากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงเพราะต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตร ทำให้ไทยต้องแสวงหาหนทางสู่อนาคตเพื่อเติบโตท่ามกลางโลกที่มีการแข่งขันสูง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อมนุษยชาติ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร่งด่วนของรัฐบาล คือการทําให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า และเตรียมพร้อมประเทศไทยให้ประสบความสําเร็จในระยะยาว ผ่านการลดค่าครองชีพ ส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสให้คนไทย และขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลกําลังทํางานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งนโยบายที่เป็น quick wins รัฐบาลได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ระงับการชําระหนี้ชั่วคราวสําหรับเกษตรกร และอยู่ในขั้นตอนของการพักหนี้ให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอีกประการหนึ่ง คือ นโยบาย Digital Wallet ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สําคัญ ช่วยเพิ่มกําลังซื้อของประชาชน และเพิ่มการผลิตสินค้า นําไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน ตลอดจนการหมุนเวียนและการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Visa Free สําหรับนักท่องเที่ยวจากจีน ไต้หวัน คาซัคสถาน และอินเดีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในอนาคตด้วย รวมทั้งยังมีแผนที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการระดับภูมิภาค สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลวางแผนดำเนินการ เช่น 1) การทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่สําหรับสินค้าและบริการของไทย รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั่วประเทศ 2) การเร่งการเจรจา FTA และ Visa Free สําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย 3) การเพิ่มความสะดวกในการทําธุรกิจและสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 4) การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน เพื่ออํานวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว โดยอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ โครงการ Landbridge เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ลดระยะการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ให้ประเทศไทย เพื่อเป้าหมายทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ นายกรัฐมนตรียังประกาศความพร้อมของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศไทยจากผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีกำไรต่ำและเน้นสินค้าเกษตร ไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้จําเป็นต้องบูรณาการเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงการผลิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งอุตสาหกรรม S-curve ในอนาคตที่รัฐบาลวางแผน ได้แก่ อุตสาหกรรม EV โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV ที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ซึ่งรัฐบาลจะออกมาตรการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุน ให้สิทธิพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ออกแบบหลักสูตรด้านวิชาการเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ และขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานการผลิต EV ที่ครอบคลุมในอาเซียน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผ่านการวางแผนที่จะยกระดับการลงทุนต้นน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ระดับโลกและทันสมัย รวมถึงวางแผนที่จะเพิ่มทักษะแรงงานไทย เพื่อเสริมสร้างนักพัฒนา และส่งเสริมระบบนิเวศที่เหมาะสมในการผลิต ทั้งไมโครชิป ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สําหรับ EV และแผงวงจรไฟฟ้าขั้นสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ(Automation) รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนในการผลิตและบริการด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การรวมระบบ(system integration) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมายคือ ระบบการคลังสินค้าอัตโนมัติ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน(collaborative robot) ที่สามารถทํางานร่วมกับมนุษย์ได้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทําให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพทั้งในภูมิภาคและโลก พร้อมทั้งวางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารแปรรูป นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์สภาพดินที่ครอบคลุม การจัดการน้ำและการทําฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายของรัฐบาล คือ การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย 3 เท่า ภายใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมวางแผนขยายตลาดอาหารนวัตกรรมแห่งอนาคต เช่น อาหารจากพืชที่มีโปรตีนสูง และผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเนื้อสัตว์ สำหรับการรับมือกับความขัดแย้งระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแสวงหาสันติภาพและการไม่แบ่งแยก โดยไทยจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกสมาชิกในประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่สําคัญของไทยในทุกภูมิภาค และเชื่อว่านโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่แบ่งแยกของไทย จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ด้วยการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และแสวงหา "สิ่งทดแทน" โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าและลงทุนในพลังงานหมุนเวียน พร้อมยินดีที่จะประกาศว่า ในปีที่ผ่านมาไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15% ในภาคพลังงานและการขนส่ง นับเป็นโอกาสดีที่ไทยและภาคเอกชนจะร่วมมือกัน เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชักชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยี องค์ความรู้ โดยรัฐบาลพร้อมทํางานอย่างใกล้ชิดกับ BOI และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงความสะดวกในการทําธุรกิจ สิทธิประโยชน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีการยื่นขอรับลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหวังว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนับเป็นโอกาสที่ดีสําหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ร่วมงานทุกคนในวันนี้สามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า “ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่”
Comments