NetZero-Carbon Neutrality
จากกระแสโลกที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon Neutrality
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักในเรื่องนี้ ต่างมีมาตรการในหลากหลายรูปแบบออกมาเป็นระยะ..!!!
เราลองไปติดตามว่า มีอะไรบ้าง และคืบหน้ากันอย่างไร?
รฟท. ผนึกพันธมิตร
ทั้งหน่วยงานรัฐ-เอกชน
มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ
“รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ ร้อยละ 20 - 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมทั้ง "นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม
..... กระทรวงคมนาคม จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ให้มีการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้ร่วมมือกับ สจล., และเอกชน จนเกิดรถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ อย่างไรก็ตามการทดสอบในวันนี้ ได้ใช้รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งการรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป..”นั่นคือหมุดหมายที่ผู้รับผิดชอบนโยบาย ให้แนวทางแกหน่วยปฏิบัติรับไปดำเนินการ
โดยท่านผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย “นายนิรุฒ มณีพันธ์” ก็รับแนวนโยบายเพื่อนำมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการ และสร้างรายได้ของการรถไฟฯ ถือเป็นรถจักรพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยคนไทย
“ระยะแรก การรถไฟฯ จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นบริการรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 จากขบวนรถโดยสารทางไกล ที่ยังเป็นรถไฟดีเซล ซึ่งจากผลการทดสอบ ของ รฟท. สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นในระยะต่อไป จะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 - 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น..”คำยืนยันอย่างแน่วแน่ของผู้ว่า รฟท.ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
โดยขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบลากจูงขบวนรถในระยะใกล้ เส้นทาง วิหารแดง - องครักษ์ (ไป-กลับ) ระยะทาง 100 กิโลเมตร มาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ทดสอบวิ่งรถจักร Battery ตัวเปล่าคันเดียว รวมทั้งการลากขบวนรถโดยสารขึ้น และลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้ความเร็วตลอดการทดสอบเฉลี่ย 25 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.) ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี
โดยสำหรับจุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว ได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และในอนาคตหากจะใช้งานด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมง (ชม.) ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง ถือเป็นก้าวแรกของการรถไฟฯ ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการทดสอบรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train
“..นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด เป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub และตอบสนองนโยบาย Thai First ของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการผลิต ทดสอบ ประกอบยานยนต์ โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ…
...การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน..”ผู้ว่ารฟท.ย้ำ
เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่
“รถไฟ EV”รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
เวียดนาม แห่แชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้าไทย
เมื่อทิศทางชัด หน่วยปฏิบัติก็เดินหน้าอย่างมั่นใจ !! การรถไฟฯ เดินหน้าเร่งทดสอบเดินรถจนมั่นใจ ปลอดภัย ก่อนนำมาใช้บริการจริง ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ลดมลพิษ ยกระดับการให้บริการประชาชนภายในปี 66
ซึ่ง “นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย บอกเล่าว่า ภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้า ลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย
นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางคน มาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน อาทิเช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะใช้แบตเตอรี่ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดโดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป
สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle :EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573
ปัจจุบันรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป โดยในระยะแรกจะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบ ของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้นในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 - 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อย่างไรก็ตามรถจักรคันดังกล่าว มีความเร็งสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากลากตู้สินค้าจะใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากลากตู้โดยสารจะใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสมรรถนะในการลากจูงระยะทาง 300 กิโลเมตร ลากตู้สินค้าน้ำหนักประมาณ 2,500 ตันได้ และตู้โดยสาร ลากได้น้ำหนักไม่เกิน 650 ตัน
ขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร ทั้งนี้จุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมงในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง
“..การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดหารถจักร EV อีกประมาณ 50 คัน ทยอยมาให้บริการประชาชนภายในปี 66 ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหัวรถจักร EV สามารถลดต้นทุนได้ 40-60% หากเทียบกับการหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน..”ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเล่าถึงการเดินหน้าเพื่อยกระดับการพัฒนา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
“วันสำคัญ กับการทำเรื่องสำคัญ” ในวันบุรฉัตร
การรถไฟฯร่วมกับพันธมิตรปลูกรวงผึ้ง 20,000 ต้น
ดูดซับคาร์บอนตามแนวทางรถไฟสายสีแดงและสถานีกลาง
ในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีด้วยกัน 2 ขา คือ ขาดล และขาดูดซับ ในความพยายามลดเราได้ยกตัวอย่างถึงโครงการ และกิจกรรมที่ได้ดำเนินไปแล้ว
ส่วนในเรื่องการดูดซับคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม่ การรถไฟฯก็ไม่ได้ละเลย
โดยการรถไฟฯ ร่วมมือ SCG และกระทรวงอุตสาหกรรม คิกออฟ เปิดกิจกรรม “season train X เอสซีจี ปลูกแสนต้นให้คน กทม.” ในวันบุรฉัตร โดยนำร่องปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 และไม้ดอกสวยงามที่สถานีกลางบางซื่อ
นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ นายพีระเดช หนูขวัญ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักร พร้อมด้วย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และนายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ season train X เอสซีจี ปลูกแสนต้นให้คน กทม. ใน "วันบุรฉัตร" โดยนำร่องปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 และไม้ดอกสวยงาม ที่สถานีกลางบางซื่อ และตลอด 2 ข้างทางแนวเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพื่อพัฒนาทัศนียภาพพื้นที่ของการรถไฟฯ ให้มีความร่มรื่น สวยงาม ตลอดจนเป็นการร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งกิจการรถไฟฯ ยุคใหม่ เนื่องในวันบุรฉัตร
การรถไฟฯ มีนโยบายให้ความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อช่วยกันพัฒนาโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ โดยโครงการ Season Train ของการรถไฟฯ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย “สีสันคมนาคม สร้างสรรค์ประเทศไทย” ของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่โดยรอบของการรถไฟ โดยการนำพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีดอกสวยงาม มาปลูกตามแนว 2 ข้างทางรถไฟ เพื่อพัฒนาทัศนียภาพให้มีความสวยงาม สะอาด ร่มรื่น กลายเป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพให้กับชุมชน และส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับ โครงการ Season Train ของการรถไฟฯ นับว่ามีความสอดคล้องกับโครงการ SCG ปลูกแสนต้นให้คน กทม.จึงได้รวมพลังจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นใน “วันบุรฉัตร” ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงประกอบพระกรณียกิจที่สำคัญ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ จนได้รับพระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งกิจการรถไฟฯ ยุคใหม่” การรถไฟฯ จึงถือโอกาสนี้เป็นวันเริ่มต้นโครงการ Season Train โดยปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 150 ต้น ภายในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และในอนาคตกำหนดปลูกต้นไม้ที่มีดอกสวยงาม ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง อีกจำนวนกว่า 20,000 ต้น
“ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม พร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน และประเทศชาติ เพราะมีความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมแรงร่วมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชน จะช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมของเรามีความสมดุล ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน….” นายสุชีพ สุขสว่างบอกเล่าถึงผลที่จะเกิดจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้
////////////////////////////////
Comentários