วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง 1.9% โดยการส่งออกยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวก็ลดลงเหลือเพียง 4.30 หมื่นบาท จากที่เคยประมาณการ 4.55 หมื่นบาท เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว สหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัวจากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเอเชียไม่รวมจีน ได้แก่ อาเซียน-5 เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยที่อัตรา 3.7% นอกจากนี้ ตะวันออกกลางและอินเดีย มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูงที่ประมาณ 3.4% และ 6.3% ตามลำดับ สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอาหาร
เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธปท. ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุค COVID-19
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพของแรงงานเพื่อเผชิญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ low carbon society ปัจจัยบวกสำหรับปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566 ทั้งนี้ หากนโยบายเติมเงินใน digital wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย 1-1.5% กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566-2567 ของ กกร. (ณ ต.ค. 66) ปี 2566 GDP 2.5 ถึง 3.0 ส่งออก -2.0 ถึง -0.5 เงินเฟ้อ 1.7 ถึง 2.2 (ณ พ.ย. 66) ปี 2566 GDP 2.5 ถึง 3.0 ส่งออก -2.0 ถึง -1.0 เงินเฟ้อ 1.7 ถึง 2.2 (ณ ธ.ค. 66) ปี 2566 GDP 2.5 ถึง 3.0 ส่งออก -2.0 ถึง -1.0 เงินเฟ้อ 1.3 ถึง 1.7 (ณ ธ.ค. 66) ปี 2567 GDP 2.8 ถึง 3.3 ส่งออก 2.0 ถึง 3.0 เงินเฟ้อ 1.7 ถึง 2.2 ปี 2567 มีหลายปัจจัยแปรผันที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุนในยุค Decoupling การดูแลต้นทุนราคาพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้เกิดความสมดุล และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน รวมถึงดึงดูดแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูง นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาความเปราะบางในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.68% ณ Q1/2566 เป็น 2.79% ณ Q3/2566 จากทุก product และสินเชื่อรถยนต์ที่อยู่ใน stage 2 สูงราว 15% นอกจากนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการมี informal economy ขนาดใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2566 มีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวน 62,030 ราย รวมมูลหนี้ 2,793.29 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะจะได้เห็นข้อมูลพื้นฐานของหนี้นอกระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายโดยภาครัฐ และให้การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยที่ประชุม กกร. เห็นว่ากลไกถัดไปในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องผลักดันให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
Comments