top of page

"ณัฐพล" มอบสอจ.พื้นที่ฝั่งตะวันออกเน้นย้ำให้โรงงานนำMINDทั้ง4มิติสร้างความเข้มแข็ง

พร้อมเตรียมเดินหน้านำระบบ Super App เข้าตรวจโรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ


เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (รปอ.) นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผตร.) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อรอ.) นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ชปอ.) และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย MIND ใช้ “หัวและใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี (สอจ.จันทบุรี) โดยมีนางสาวกาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี และนายวสันต์ วิสัยมั่น อุตสาหกรรมจังหวัดตราด ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ประกอบด้วย โครงสร้างบุคลากร งบประมาณ ผลผลิต ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานในปี 2566 และคำของบประมาณปี 2567 ตลอดจนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทั้งนี้ นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้เข้ารับมอบนโยบายดังกล่าวด้วย

สอจ.จันทบุรี มีบุคลากร 22 คน มีโรงงานในกำกับดูแล 355 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ แปรรูปอาหาร และห้องเย็น มีเหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตร 7 ประทานบัตร มีวิสาหกิจชุมชน 163 ราย ทั้งนี้ สอจ.จันทบุรี มีการดำเนินการตามนโยบาย MIND ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งในด้านความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคมและชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ได้แก่ บริษัท เป็นเงินฟีดมิลล์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตอาหารกุ้ง อาหารปลา และเป็นโรงงานแห่งแรกของไทยที่ผลิตโนแวค สามารถส่งออกต่างประเทศได้ 100% ทั้งยังดูแลสังคมโดยช่วยแก้ปัญหาการเลี้ยงหอยนางรมไม่โต มีการสอนการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อจัดการกลิ่น การสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ และการจัดทำกิจกรรม CSR ปลูกป่าชายเลน รวมถึงใช้พนักงานในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 และสนับสนุนสินค้าจากกลุ่มชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ สอจ.จันทบุรี ยังได้ให้การส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปเสื่อกกจันทบูร โดยนำนวัตกรรมมาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย และมีการจัดทำบ่อพักสีย้อมที่ถูกต้อง จนทำให้เสื่อกกจันทบูรเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด

สอจ.ตราด มีบุคลากร 21 คน มีโรงงานในกำกับดูแล 241 โรงงาน มีเหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตรแล้ว 1 ประทานบัตร โดย สอจ.ตราด มีการดำเนินการตามนโยบาย MIND ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ จนทำให้บริษัท สยามเดลมองเต้ จำกัด ได้รับการรับรองคุณภาพในระดับสากล เช่น GMP HACCP BRC เป็นต้น และสามารถลดต้นทุนในการใช้กระดาษลูกฟูกในกระบวนการผลิตได้กว่า 25% มีการสร้างเครือข่ายชุมชนรับฟังความคิดเห็นและแก้ปัญหาร่วมกัน บริษัทฯ ได้รับมาตรฐาน GI ระดับ 4 และให้ความสำคัญกับการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดตามกฎหมาย รวมถึงจ้างแรงงานในพื้นที่กว่าร้อยละ 90 และรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ ส่วนในด้านการส่งเสริมวิสาหกิจกลุ่มห้วยแร้ง ได้ช่วยพัฒนาสับปะรดตราดสีทองมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชน เช่น แยมสับปะรด น้ำพริกเผา ข้าวห่อสับปะรด เป็นต้น มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ มีการนำกากสับปะรดไปทำปุ๋ยหมักหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งการรับซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่น พร้อมจัดหาช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชื่นชม สอจ.จันทบุรี และตรวด ในการส่งเสริมตามแนวทาง MIND ทั้ง 4 มิติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมมอบนโยบายให้กับ สอจ. ดำเนินการจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve) และให้ความสำคัญกับภารกิจหลักของ สอจ. ในการกำกับดูแลโรงงานอย่างใกล้ชิด และให้มีการนำระบบ IT ที่เป็นมาตรฐาน เข้ามาช่วยในการตรวจโรงงาน และการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ของโรงงานลงในแบบฟอร์มเดียว (i-Single Form) โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้กรอกข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้มีการนำนโยบาย MIND ไปส่งเสริมโรงงานให้เข้มแข็ง ควบคู่การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนไม่เกียจโรงงาน รวมถึงได้เน้นย้ำการใช้จ่ายงบประมาณของ สอจ. ไม่ควรใช้งบประมาณข้ามหมวด เพื่อให้ทราบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่าง ๆ ที่แท้จริง

ด้าน รปอ.ณัฏฐิญา ได้เน้นย้ำเรื่องบุคลากร พยายามปลูกฝัง "คนดีมี MIND" ต้องมีจิตสำนึกที่ดี "ใช้หัวและใจ" ในการทำงาน เพื่อให้การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เป็นไปด้วยดี ส่วนในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะนี้ ส่วนกลาง ได้ดำเนินการจัดทำเครื่องมือผ่านระบบดิจิทัล (Super App) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับให้ สอจ.ทั่วประเทศใช้ตรวจโรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และขอความร่วมมือให้โรงงานกรอกข้อมูลใน i-Single Form ให้มากที่สุด เพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงได้เตรียมที่จะมีการจัดอบรมเรื่องการเงินการบัญชี เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ สอจ.ทั่วประเทศ ได้มีแนวทางการจัดทำบัญชีที่เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้ สอจ. บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต่อยอดจากการส่งเสริมอาชีพดีพร้อมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการ เพื่อให้โรงงานเชื่อมโยงการฝึกอาชีพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้ง ได้มอบหมายให้ สอจ. เชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 มิติ สมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 อย่างน้อยหน่วยงานละ 5 กิจการ

ส่วน ผตร.เดชา ได้เสนอให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มีการศึกษาไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแผนงานของ สอจ. อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงควรมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) อย่างชัดเจนในการนำนโยบาย MIND ทั้ง 4 มิติ เข้าไปส่งเสริมและพัฒนา โดยให้ สอจ. แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด KPI ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนได้ เพื่อสร้างความท้าทายในการทำงานให้มากขึ้น

ด้าน ชปอ.ณิรดา ขอเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ สอจ.ทุกระดับ เข้ารับการอบรมด้านการใช้งานผ่านระบบ I-Single Form เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปแนะนำ สร้างความเข้าใจ และถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการเข้ามากรอกข้อมูลได้ต่อไป

ต่อมาเวลา 15.00 น. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ณ สาขาจันทบุรี โดยมี ผู้จัดการเขต 21 ผู้จัดการสาขาจันทบุรี ระยอง และตราด ให้การต้อนรับ โดยทางผู้จัดการเขต 21 ได้นำเสนอโครงสร้างของแต่ละสาขา และผลการดำเนินงานด้านการอนุมัติสินเชื่อและการเบิกจ่าย ปริมาณ NPL ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ ผลการปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของพื้นที่เขต 21 ยังสามารถทำยอดมาเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศด้วย

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page