top of page

ตามไปดู...ภาวะสังคมไทย ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566


คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2566

1.1 สถานการณ์ด้านแรงงาน มีการจ้างงานจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 เนื่องจากการขยายตัวของภาคเกษตรกรรมและสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าจ้างในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,118 และ 13,722 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และ 1.9 ตามลำดับ ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.2 แสนคน ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที (2) ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อรายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม และ (3) พฤติกรรมการเลือกงานที่คำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและมีความสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่

1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ ปี 2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ที่ร้อยละ 86.9 โดยหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ1ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง พบว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขณะที่สถานการณ์ ด้านสุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้น โดยลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 8.36 จากที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 11.95 นอกจากนี้ ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ จำนวน 3.11 ล้านราย เป็นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจมากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การรักษาระดับการป้องกันโรคส่วนบุคคลและการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 (2) การป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนด้วยโรคลมแดด และ (3) ปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย

1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.2 เนื่องจากประชาชนมีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ (2) การดื่มแอลกอฮอล์ที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมและ (2) การโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าการตลาดไปยังเด็กและเยาวชน

1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า มีการรับแจ้งคดีอาญารวมทั้งสิ้น 103,936 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีคดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่การรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนมีผู้ประสบภัยรวม 207,498 ราย ลดลงร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น (1) การเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนกระทำความผิดทางอาญาและ (2) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางถนนให้เหมาะสมกับการจราจร

1.6 การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 203.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 397.3 และด้านโฆษณามีการร้องเรียนมากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติลดลงร้อยละ 73.4 และเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การโฆษณาด้วยข้อความที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและ (2) การหลอกขายสินค้าและบริการที่ไม่มีมาตรฐานให้แก่ผู้บริโภค

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

2.1 มูเตลู : โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ มีการนำคำว่า “มูเตลู”มาใช้แทนความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคล/เครื่องรางของขลังต่าง ๆ โดยการท่องเที่ยวมูเตลูอาจเทียบได้กับ “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา”ของต่างประเทศ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแสวงบุญและการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการท่องเที่ยวสายมูเตลูของไทยเฉพาะการแสวงบุญจะมีรายได้หมุนเวียนมากถึง 10,800 ล้านบาท ซึ่งทรัพยากรการท่องเที่ยวมูเตลูสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) มูเตลูที่เป็นสถานที่ เช่น วัด ศาลเจ้า และเทวสถานและ (2) มูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ เช่น เครื่องรางของขลังและพิธีกรรม ทั้งนี้ ความหลากหลายของทรัพยากรสายมูเตลูของไทยสะท้อนถึงการมีพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมทางศาสนาและความเชื่อของคนไทยและกลายเป็น soft power ที่สามารถใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการส่งเสริม ดังนี้ (1) การกำหนดนโยบาย/แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจนของภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ (2) สร้างภาพลักษณ์มูเตลูที่ครอบคลุมทั้งสถานที่ บุคคล และกิจกรรมสายมูเตลู และ (3) บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพมากขึ้นและส่งเสริมบทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้เป็นหน่วยขับเคลื่อนหลักในการดึงภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมพัฒนา

2.2 วิสาหกิจเพื่อสังคมกับการรองรับสังคมสูงวัย ความต้องการของผู้สูงอายุมีความหลากหลายและมาตรการของภาครัฐไม่สามารถตอบสนองให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ต่าง ๆ จึงได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยปิดช่องว่างการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่มีความยั่งยืน ในการดำเนินการมากกว่าองค์กรรูปแบบอื่น เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองและนำมาใช้สนับสนุนการทำงาน อีกทั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีตัวอย่าง SE ที่ดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น (1) ด้านการจ้างงาน มี “ชูมณี” บริการ “ฝากซัก อบ พับ กับป้าชูมณี” ซึ่งเป็นการจ้างงานผู้สูงอายุหญิงในพื้นที่เพื่อดูแลเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนพร้อมทั้งสิทธิประกันสังคมและ (2) ด้านสุขภาพ มี “Buddy homecare” ซึ่งให้บริการจัดส่งพนักงานไปอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุและดูแลด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ (1) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิด SE ใหม่โดยศึกษาและจัดทำชุดองค์ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางให้ SE อื่น ๆ และ (2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SE เดิมโดยเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างทักษะ

2.3 การออมที่ไม่ใช้ตัวเงิน : ทางเลือกในการสร้างรายได้ในอนาคต ข้อมูลปี 2564 พบว่า มีครัวเรือนไทยร้อยละ72 ที่มีการออมเงินแต่มูลค่าการออมไม่สูงและมีแนวโน้มลดลง ทำให้ครัวเรือนไทยกว่าร้อยละ 86 มีเงินออมในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 1 ปี หากต้องหยุดทำงาน ตลอดจนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายภายหลังเกษียณ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการออมทางเลือกซึ่งเป็นการออมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เงิน เช่น (1) การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกต้นไม้ยืนต้น ซึ่งรัฐบาลได้ปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายากจำนวน 171 ชนิด ให้สามารถปลูกและตัดขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างเสรี รวมทั้งกำหนดให้ไม้มีค่า จำนวน 58 ชนิด สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจและค้ำประกันสินเชื่อได้ตามกฎหมาย และ (2) การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค กระบือ สุกร ไก่ และปลา ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงมาก แต่การเลี้ยงสัตว์เพื่อการออมยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการขายและการบริโภคในครัวเรือน ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมและขยายผลการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ การใช้กลไกความร่วมมือของคนในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

3. บทความ “คุณธรรมในสังคมไทย” คุณธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์แต่คุณธรรมในสังคมไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง ซึ่งสะท้อนจากคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ปี 2565 ที่ไทยอยู่ในอันดับ 101 จาก 180 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ไม่ดีนัก รวมถึงการสำรวจสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 ของศูนย์คุณธรรม ด้วยตัวชี้วัดคุณธรรม2 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีคุณธรรมอยู่ในระดับพอใช้และระดับคุณธรรมวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่มคนในช่วงอายุ 25-40 ปี มีคะแนนเฉลี่ยลดลงและลดลงในทุกด้านโดยเฉพาะความมีวินัยรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น (1) แต่ละช่วงวัยมีปัญหาแตกต่างกัน (2) การศึกษาสูงไม่ได้สะท้อนถึงระดับคุณธรรม และ (3) ปัญหาคุณธรรมในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีการขับเคลื่อนและยกระดับคุณธรรมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่ยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดในการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) การจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและต้นทุนชีวิตในระดับพื้นที่/จังหวัด (2) การส่งเสริมคุณธรรมในระดับพื้นที่ และ (3) การพัฒนารูปแบบและช่องทางการสื่อสารเพื่อส่งเสริมคุณธรรมที่มีประสิทธิผลและตรงกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งมีเรื่องที่ต้องส่งเสริม/พัฒนา ได้แก่ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศคุณธรรมในสังคมไทยและ (2) ส่งเสริมให้คนไทยมีการดำเนินชีวิตสู่วิถีชีวิตแห่งคุณธรรม

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page