วันที 12 มกราคม 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ว่าคณะกรรมการของทั้งสองบริษัทฯ ได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท
ทั้งสองบริษัทจะดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ จนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งสองบริษัทจะคงแยกกันดำเนินธุรกิจ โดยให้บริการลูกค้าตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
สำหรับชื่อบริษัทที่ได้รับการเสนอในการจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่ควบรวมคือ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” โดยที่ทั้งแบรนด์ทรูและดีแทคเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในขณะที่แบรนด์ทรูยังเป็นที่รู้จักครอบคลุมถึงธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ทั้งนี้ หลังจากการควบรวม ทั้งแบรนด์ดีแทคและทรูจะยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังเตรียมเสนอรายชื่อคณะกรรมการบริษัทใหม่ เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณาและอนุมัติ โดยประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์, นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป, ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, นางกมลวรรณ วิปุลากร, นายกลินท์ สารสิน, นางปรารถนา มงคลกุล, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข, ดร.เกา ถงชิ่ง, นางทูเน่ ริปเปล , นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
โดยคณะกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่อนี้ เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและทรงคุณวุฒิทางธุรกิจ และจะทำงานร่วมกันกับคณะผู้บริหารระดับสูงที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้ง ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมความสมดุลของการเป็นตัวแทนจากทรูและดีแทค การนี้นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชารัด เมห์โรทราได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดย นายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ เชื่อมั่นว่าการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคจะสร้างประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยสู่ความล้ำหน้า โดยทั้งสองฝ่ายกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 30 อย่างเท่าเทียมในบริษัทใหม่
บริษัทใหม่จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมด้วยการดำเนินธุรกิจด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้งานชาวไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจหลากหลายมากกว่าเดิม บริษัทใหม่จะเพิ่มความแข็งแกร่งจากการดำเนินธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มศักยภาพการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีล้ำหน้าระดับโลกมาสู่เครือข่ายคุณภาพและนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่างๆ พร้อมทั้งผลักดันวาระการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย
Commentaires