“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยกำหนดเป็นมาตรการ 16 มาตรการ โดยมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำ 16 มาตรการไปปฏิบัติ สิ่งที่เราดำเนินการ คือ ตรวจ ติดตาม และแก้ไข เริ่มจากการหาสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย โดยสำนักงานเขตและสำนักที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาของฝุ่นว่าเกิดจากอะไรบ้าง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ/ภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหา ให้นโยบายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในอนาคต กทม.”
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการแถลงข่าว “9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่”
“ข้อดีของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ เวลาลงไปเจอปัญหาจะไม่เคยโทษใครก่อน แต่ละสั่งการให้รองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 ท่าน ไปหาข้อมูล แล้วจึงแก้ไขปัญหา มุมหนึ่งคือผู้ว่าฯ ไปตามงานให้ และ 2 คือ เจ้าหน้าที่ที่เป็นระดับปฏิบัติการจะรู้สึกว่าคนที่เป็นหัวหน้าก็มีส่วนรับผิดชอบในหน้าที่ตรงนี้ด้วย คือ มีความใส่ใจ ลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง ลงไปคุยปัญหาจริง ๆ และช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งมุมนี้ไม่ค่อยมีใครสะท้อนออกมา”
“หลังจาก 99 วันที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เรามีการพูดถึงกัน คือ สิ่งหนึ่งที่เราได้พูดถึงกันคือทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ จากนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 7 มิติ โดยออกมาเป็นเป้าหมายให้กับคนกรุงเทพฯ 74 เรื่อง ภายใต้ 74 เรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดนำไปสู่ 74 OKRs ของหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนด KPIs ของหน่วยงานนั้น ๆ และให้หน่วยงานทำคำของบประมาณในปี 67 จะใช้วิธีคิดงบประมาณฐานศูนย์ Zero Baseds เพื่อมองเป้าหมายว่าประชาชนจะได้อะไร และพิจารณาว่าอะไรควรดำเนินการต่อ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการทำงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในการแถลงข่าว “9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
แนวโน้มการระบายน้ำในพื้นที่กทม. จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม
“เรื่องแรกคือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมาจากน้ำฝน และน้ำเหนือน้ำหนุน โดยในปีนี้ปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ถึง 40% ทำให้กรุงเทพมหานครต้องเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำให้มากขึ้น จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำได้คือการเร่งระบายให้น้ำที่มีนั้นออกไปสู่คลองและแม่น้ำให้ได้เร็วที่สุด ผ่านการลอกท่อ ขุดลอกคลองและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การขุดลอกคลอง เพื่อให้สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น ซึ่งการระบายน้ำของกทม.ในปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา”
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง(Infrastructure) ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีความท้าทายและซับซ้อน รวมถึงต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา ในการแถลงข่าว“9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” วันนี้ (21 ธ.ค.65)
เปลี่ยนวิธีการทำงาน เน้น “คน” เป็นที่ตั้ง
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาคนพร้อมกับพัฒนาเมือง ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาเราเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิง เดิมการทำงานบูรณาการเป็นเรื่องยาก จึงเปลี่ยนการทำงานเอาคนเป็นตัวตั้ง และเอาทีมมาสนับสนุนการดำเนินการ สำหรับภารกิจซึ่งในส่วนที่ดูแล คือ เรื่องของสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เรื่องของการเรียนรู้ และเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
คณะผู้บริหาร กทม. ร่วมแถลงข่าวงาน “9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ทบทวนการทำงานที่ผ่านมา 6 เดือน 21 วัน ส่งของขวัญคนกรุงฯ พร้อมขอบคุณประชาชนและทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันพัฒนาเมือง เพื่อให้ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
Comments