top of page

ฟัง"เศรษฐา" ปาฐกถาในงาน Thailand – China Investment Forum 19 ตุลาคม 2566

"ความพร้อมของไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และให้ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ..."


(ฟังปาฐกถาพิเศษฉบับเต็ม)

งานสัมมนา Thailand - China Investment Forum นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 09.20 - 09.35 น. ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ท่านหวัง หย่ง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านเหริน หงปิน ประธาน CCPIT ท่านหลี่ เฟย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นในนามของรัฐบาลไทย ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงกันในพื้นที่ห้างสยามพารากอน และขอเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกท่าน ผมขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า ผมได้สั่งการให้หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อทุกท่านที่มาเยือน สำหรับการเดินทางมาสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้ ผมมีความยินดีอย่างยิ่งและขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกันมาตั้งแต่อดีต และมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อชาติจีน โดยในปี 2023 ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนดำเนินมาอย่างราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด และที่สำคัญยิ่งคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน (Joint Action Plan on Thailand - China Strategic Cooperation) ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของสองประเทศที่จะร่วมมือกันในระดับยุทธศาสตร์ การเยือนประเทศจีนในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม รวมถึงยังมีส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ และยังก่อให้เกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และอำนวยประโยชน์ระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 60 ประเทศ มีประชากรอยู่ในเส้นทางเชื่อมโยงประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน ปัจจุบันไทยมีเส้นทางถนน R3A ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศก็มีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังประเทศไทยด้วย รัฐบาลไทยมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือทรัพยากรได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) สำหรับการค้าและการลงทุน แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทุกประเทศจึงจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจะมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของไทยนั้นสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยเน้นคุณภาพ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงไม่เพียงแค่รองรับประชากร 67 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน และหากนับรวมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น RCEP จะยิ่งส่งเสริมบทบาทไทยในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งนี้ ไทยพร้อมมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ผมขอย้ำว่า ไทยพร้อมมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการค้าและการลงทุน รัฐบาลไทยจะใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศหรือข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคีในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมิตรประเทศ โดยยังยึดมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน สำหรับภาพรวมด้านเศรษฐกิจของไทย ในปี 2022 GDP ของไทยเติบโตร้อยละ 3.4 ส่วนในปี 2023 แม้จะมีปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยความพยายามของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) และการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การชักจูงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก คาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ในด้านการค้า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ตัวเลขการค้าระหว่างไทย - จีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านหยวน ผมอยากเห็นการค้าไทย - จีนขยายตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีสินค้าจีนผ่านประเทศไทยไปยังที่อื่น ๆ ได้ด้วย โดยมีศักยภาพที่จะขยายขอบเขตและประเภทสินค้าได้อีกมาก และอยากให้ประเทศจีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นด้วย ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2018 - เดือนกันยายน 2023 ประเทศจีนเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 1 แสนล้านหยวน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทุกท่านทราบดีว่า ที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีนหลายแบรนด์เข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีนเป็นอย่างดี การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่าและยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังผลักดันการพัฒนาระบบบริหารจัดการการให้บริการ ได้แก่ การปรับปรุงระบบคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยเฉพาะการปรับปรุงสนามบินและการจัดการเที่ยวบินทั่วประเทศเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งจะเพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของประเทศไทยนั้น ในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2023 มีนักท่องเที่ยวจีนไปเยือนไทยแล้วประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งไทยมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นพิเศษตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางไปไทยมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้จนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนในต้นปีหน้า ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยนอกเหนือจากการท่องเที่ยวในสถานที่โด่งดังของไทย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ แล้ว ผมขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวในเมืองรอง ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและมีความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม ผมขอย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัยและยินดีต้อนรับการเดินทางของทุกท่าน เราพร้อมดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นของไทยต่อเวทีโลก โดยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกมส์ ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น เพื่อเผยแพร่ศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยให้เป็นที่แพร่หลาย อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญคือ ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตรและเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยตรง ดังนั้น ไทยจึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลไทยมีแผนที่จะเสริมสร้างสังคมดิจิทัลโดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการศึกษา ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมากที่มาศึกษาต่อ ผมหวังว่าจะผลักดันความร่วมในการพัฒนาหลักสูตรความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยกับจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้าการลงทุนร่วมกัน จึงขอเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินธุรกิจหรือทำงานในประเทศไทย การเดินทางมาเยือนจีนครั้งนี้ นอกจากมีผู้แทนจากภาครัฐแล้ว ผมยังได้นำคณะนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและสนใจจะสร้างเครือข่ายทางธุรกิจมาด้วย ผมหวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงภาคเอกชนไทยและจีน กระตุ้นให้เห็นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้โครงการ Land Bridge เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมโยงในภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้าและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ประเทศไทยภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้เปิดกว้างสำหรับการลงจากทุกประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลพร้อมทำงานให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกิจ (ease of doing business) สุดท้ายนี้ ผมในฐานะผู้นำรัฐบาลไทย ขอให้ความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อที่จะสามารถส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ไม่เพียงเอื้อประโยชน์ให้แก่สองประเทศเท่านั้นแต่จะช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้าและรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page