วันที่ 12 เมษายน 2567 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามการให้บริการและอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมทั้งมอบขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา
นายสรพงศ์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มีวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการเดินทางและอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงคมนาคม ภายใต้หัวข้อการรณรงค์ “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน” จึงได้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและตรวจติดตามการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา ดังนี้
1. ติดตามการดำเนินงานอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชน ณ หมวดทางหลวงบางปะอิน แขวงทางหลวงอยุธยา สำนักงานทางหลวงเลขที่ 13 โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้การต้อนรับ พร้อมรายงานสถานการณ์การเดินทางของประชาชน
- กรมทางหลวง (ทล.) ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ทางด้วยการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) ทั้งเที่ยวไปและกลับบนทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามุ่งหน้าจังหวัดสระบุรี และจากจังหวัดสระบุรีเข้าสู่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งจัดตั้งจุดบริการประชาชน จำนวน 2 จุด บนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ กม.67+400 และทางหลวงหมายเลข 32 บริเวณ กม.4+070
- กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปรับปรุง ซ่อมแซมถนนและสะพานในความรับผิดชอบให้มีความสะดวกและปลอดภัยไร้หลุมบ่อ ติดตั้งเครื่องหมายจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ไฟฟ้าแสงสว่าง และไฟสัญญาณจราจร พร้อมคืนผิวจราจรโครงการก่อสร้างถนนสาย อย.3052 แยกทางหลวงหมายเลข 347 - บ้านปากทางลัด และสาย อย.4016 แยกทางหลวงหมายเลข 3263 - บ้านป้อมให้สามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
- กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ด้วยการจัดรถเสริมให้เพียงพอต่อการใช้บริการและบริหารจัดการไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง จัดระเบียบภายในสถานีขนส่งเพื่อรองรับการเดินทาง จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะชั่วคราว (โทร.1584) วางมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 104 จุดทั่วประเทศ โดยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจุดให้บริการ 2 จุด คือ วิทยาลัยการอาชีพมหาราช (ขาเข้า กรุงเทพฯ) และวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา (ขาออก กรุงเทพฯ)
- กรมเจ้าท่า (จท.) จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จำนวน 5 ศูนย์ บริเวณสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 วัดพนัญเชิง วัดสนามเหนือ สำนักงานเจ้าท่าสาขาลพบุรี และสำนักงานเจ้าท่าสาขาสุพรรณบุรี รวมทั้งจัดเรือตรวจการณ์เพื่อดูแลความปลอดภัยการเดินทางทางน้ำบริเวณท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จำนวน 9 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือวัดพนัญเชิง ท่าเรือวัดขุนพรหม ท่าเรือวังจันทรเกษม ท่าเรือตลาดเจ้าพรหม ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือวัชรีวงศ์ ท่าเรือวัดสนามเหนือ ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส และท่าเรือวัดบางจาก
2. ตรวจเยี่ยมสถานีเดินรถพระนครศรีอยุธยา และสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสระบุรี พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มการดำเนินงานด้านความปลอดภัยตามมาตรการของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) อาทิ การมีประกันภัยการเดินทาง วงเงินประกัน 300,000 บาท ทุกที่นั่งให้กับผู้โดยสารทุกคน มีพนักงานขับรถ 2 คน ในเส้นทางที่มีระยะทางเกินกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อสลับกันขับ ป้องกันการหลับในระหว่างเดินทาง รวมทั้งมีระบบ GPS ติดตามข้อมูลรถโดยสารแบบเรียลไทม์ และสามารถควบคุมความเร็วในการขับขี่ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
3. ติดตามการอำนวยความสะดวกและการให้บริการประชาชน ณ สถานีรถไฟสระบุรี ได้เน้นย้ำให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นการเกิดอุบัติเหตุของระบบขนส่งสาธารณะจะต้องเป็นศูนย์ สำหรับผู้ประจำรถโดยสาร พนักงานขับรถไฟ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจผู้ขับต้องเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
4. ตรวจเยี่ยมจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ (Rest Area) ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยให้ตรวจสอบความพร้อมของสถานประกอบการ พนักงานขับรถ ตัวรถและอุปกรณ์ส่วนควบด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เพิ่มความถี่ในการออกตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะในเส้นทางสายหลักทั้งขาเข้าและขาออก ตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถจากข้อมูลระบบ GPS แบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง จัดผู้ตรวจการให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้โดยสารบนรถโดยสารประจำทาง เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการกำกับการทำงานของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Management : TSM) และมีมาตรการเรียกรถโดยสารสองชั้นมาตรวจสอบย้ำความปลอดภัย (Check Sure for safety)
5. ตรวจเยี่ยมจุดบริการประชาชนบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน - นครราชสีมา ซึ่ง ทล. ได้เปิดให้ทดลองใช้บริการ M6 ช่วงปากช่อง - เลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมาพบว่า สามารถรองรับปริมาณการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ได้เป็นอย่างดี และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมากขึ้น
Commentaires