ไซยาไนด์(Cyanide) สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อยู่ในหลายรูปแบบทั้งของแข็งและของเหลว มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก, ไฟไหม้บ้าน หรือไฟไหม้รถ, การเผาวัสดุที่มีคาร์บอนและไนโตรเจน เช่น พลาสติก เมลานีนเรซิน ไนล่อน ไหม ขนสัตว์ และยางสังเคราะห์ สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในพืชบางชนิด อย่างแอปเปิล, อาหารดิบ เช่น มันสำปะหลัง, บิทเทอร์ อัลมอนด์ (Bitter Almond) ส่วน sweet almond ที่นิยมกินไม่มีสารไซยาไนด์ ตลอดจนเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
แพทย์หญิงณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “พิษไซยาไนด์ เป็นสารพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตภายในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ สามารถช่วยชีวิตได้ทันเนื่องจากมียาแก้พิษ (Antidote) โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถรับพิษได้ทั้งจากการหายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง เยื่อบุ และทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว อาการเกิดภายในวินาทีหากได้รับทางการหายใจ ส่วนการกินหรือทางผิวหนังมีอาการหลังสัมผัสเป็นนาทีถึงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
พิษของไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งการใช้พลังงานจากออกซิเจนของเซลล์ในร่างกาย จึงมีอาการคล้ายภาวะขาดออกซิเจนของอวัยวะต่างๆ การเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด อวัยวะเช่นสมองจะได้รับผลกระทบ ระบบหัวใจการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ โดยส่วนใหญ่อาการเริ่มจาก
1. ใจสั่น กระวนกระวาย
2. สับสน ปวดศีรษะ
3. ซึมหรือชัก
4. ความดันโลหิตสูงต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก
5. การหายใจช่วงแรกจะเร็วแล้วช้าลงจนหยุดหายใจ
6. ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพิษจึงควรถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
ผู้ได้รับสารพิษไซยาไนด์จะมีลักษณะพิเศษ คือ ผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide กรณีที่ท่านรู้ตัวว่าสัมผัสไซยาไนด์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ พบผู้ที่ได้รับพิษไซยาไนด์ สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนี้
1. หากเกิดจากการสัมผัส รีบถอดชุดที่เปื้อนสารออก หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด
2. หากเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง ให้ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง
3. หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที
4. “ห้ามใช้วิธีเป่าปาก” ควรทำ CPR แทน เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ
5. ห้ามล้วงคออาเจียน เนื่องจากไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว
6. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
แพทย์หญิงณัฐกานต์ กล่าวต่อว่า “การแก้พิษไซยาไนด์ แพทย์จะให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanate ซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamine ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamine ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย
ทั้งนี้ ผลของการได้รับพิษจากไซยาไนด์ หากรอดชีวิตจากพิษไซยาไนด์อาจมีผลต่อเนื่อง มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วน basal ganglion ถูกทำลายถาวร” แพทย์หญิงณัฐกานต์ ทิ้งท้าย
ท่านสามารถติดตามบทความเพื่อสุขภาพหรือขอคำแนะนำด้านสุขภาพเพิ่มเติม ได้ทาง Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และ ทาง Facebook: Praram9 Hospital โทร. 1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital
Comments