top of page

ลึกกว่าป่ารอยต่อ..คือรอยอะไร?ทำไม?โรม-ก้าวไกล โดนจับกุมเพียงเพราะไปแตะ "ป่ารอยต่อ"

"ผมรู้สึกว่าประเทศเรา หากเอาความจริงมาพูดกัน ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ใช่ไหม คนจะทำให้ผู้แทนกลัว ที่จะนำความจริงมาพูดกัน"


อัยการตลิ่งชันรับสำนวนคดีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถูกแจ้งจับข้อหาหมิ่นประมาทจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อต้นปี 2563 โดยสั่งให้เลื่อนการฟ้องคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ทำสำนวนไม่เรียบร้อย จึงยังไม่ส่งฟ้องและไม่ฝากขัง


นายรังสิมันต์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาท ที่ สน.บางขุนนนท์ เช้าวันนี้ (18 มี.ค.) หลังถูกออกหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีมูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวต่ออัยการตลิ่งชัน ในเช้าวันเดียวกันนี้

ภายหลังอัยการรับสำนวนคดี แต่ยังไม่ส่งฟ้องและไม่ฝากขัง พนักงานสอบสวน สน.บางขุนนนท์ ได้นัดพบนายรังสิมันต์อีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค.


นายรังสิมันต์กล่าวภายหลังพบอัยการเสร็จสิ้นว่า โดยตั้งขอสังเกตว่า ในเมื่อสำนวนไม่เรียบร้อยตั้งแต่แรก เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับ และเท่าที่สอบถาม ดูเหมือนว่าไม่มีความพร้อม จึงเห็นว่าเป็นการเร่งคดีทีจะดำเนินการกับเขา


"ผมเลยค่อนข้างยิ่งเชื่อว่าการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การออกหมายจับ สุดท้ายเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นกระบวนการที่ต้องการกลั่นแกล้ง" รังสิมันต์ กล่าว


ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน นายรังสิมันต์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าได้รับหมายเรียกจาก สน.บางขุนนนท์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นหมายที่ออกเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร การออกหมายเรียกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ได้ห้ามไม่ให้มีการออกหมายเรียกตัว ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุม


ส่วนครั้งที่สองเป็นหมายเรียกเพื่อให้ไปพบในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งเขาได้ทำหนังสือแจ้งว่าติดภารกิจและขอเลื่อนการเข้าพบไปเป็นวันอื่น แต่ตำรวจมีคำสั่งไม่อนุญาต และได้ขอศาลเพื่อออกหมายจับเขา


นายรังสิมันต์ ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ การจะออกหมายจับ จะต้องมีการออกหมายเรียกสองครั้ง ซึ่งในกรณีนี้มีหมายเรียกที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงครั้งเดียว เขาจึงรู้สึกแปลกใจที่ถูกออกหมายจับ

สำหรับคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวีตให้ข้อมูลว่า เป็นคดีที่ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี โดย "ถ้าเป็นคดีปกติทั่วไปยังไงก็ได้รับการประกันตัว"


รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า "ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) คดีก็จะมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และการอภิปรายเรื่องการค้ามนุษย์ ก็พาดพิง พล.อ.ประวิตร ทำให้คดีนี้มีความแปลกประหลาด"


เขาอ้างอิงถึงการอภิปรายไม่ไว้วางในเมื่อเดือน ก.พ.2565 ที่เขาระบุว่ามีการกดดัน พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 อดีตหัวหน้าชุดทำคดีเมื่อปี 2558 จนสามารถเปิดโปงผู้ร่วมขบวนการได้ จนต้องลี้ภัยในต่างประเทศ


นายรังสิมันต์ เชื่อว่าการดำเนินคดีต่อเขาเป็นความพยายามเพื่อทำให้เขาต้องสูญเสียสถานะการเป็นส.ส. จากการตรวจสอบรัฐบาล และต้องต่อสู้คดีในเรือนจำ


"ผมรู้สึกว่าประเทศเรา หากเอาความจริงมาพูดกัน ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ใช่ไหม คนจะทำให้ผู้แทนกลัว ที่จะนำความจริงมาพูดกัน" นายรังสิมันต์ กล่าว และให้ข้อมูลว่าตามขั้นตอนพนักงานสอบสวนจะนำตัวเขาไปพบพนักงานอัยการที่เป็นผู้มีอำนาจขอฝากขัง แต่เชื่อว่าการคุมขังจะไม่เกิดขึ้น และเขาไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว


รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่าหลังจากนี้จะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยมิชอบ แม้จะทราบดีกว่าตำรวจชั้นผู้น้อยถูกบีบให้ดำเนินการเช่นนี้กับเขา


ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหลายคน เมื่อเดือน ก.พ. 2563 นายรังสิมันต์ ได้เปิดเผยข้อมูลนอกสภาเกี่ยวกับมูลนิธิป่ารอยต่อ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญโดยอ้างว่าเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับกลุ่มทุนใหญ่



รายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานกิตติมศักดิ์

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์


1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการ

2 หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานกรรมการ

3 พลเอก พัฑฒะนะ พุธานานนท์ รองประธานกรรมการ

4 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กรรมการ

5 พลเอก อุดมเดช สีตบุตร กรรมการ

6 พลเอก นพดล อินทปัญญา กรรมการ

7 พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ กรรมการ

8 นายกมล เอี้ยวศิวิกูล กรรมการ

9 นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนะชัย กรรมการ

10 พลเอก กิตติพงษ์ เกษโกวิท กรรมการ

11 พลเอก อภิชัย ทรงศิลป์ กรรมการ

12 พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กรรมการ

13 พลเอก คณิต สาพิทักษ์ กรรมการ

14 พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล กรรมการ

15 พลเอก วลิต โรจนภัดกดี กรรมการ

16 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการ

17 นายอดิศร นุชดำรงค์ กรรมการ

18 นายธัญญา เนติธรรมกุล กรรมการ

19 นายอรรถพล เจริญชันษา กรรมการ

20 พลโท สว่าง ดำเนินสวัสดิ์ กรรมการและเหรัญญิก

21 พันเอก จักรกฤษณ์ ศรีนนท์ กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก

22 พันเอก ชินสรณ์ เรืองศุข กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก

23 พลเอก สุรัตน์ วรรักษ์ กรรมการและเลขานุการ

24 พลเอก อนันต์ กาญจนปาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

25 พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ




Cr.มูลนิธิป่ารอยต่อ-บีบีซี-สำนักข่าวไทย-ไทยโพสต์


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page