คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หารือตั้งอนุกรรมการออก (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศ
วันที่ 25 ส.ค.2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการคนที่ 1 นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองประธานกรรมการคนที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิและหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นคณะกรรมการฯ ร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านโปรแกรม zoom
วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่ 1/65 ที่ประชุมรับทราบแนวทางการถ่ายโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จาก ก.ดีอีเอส มาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งศูนย์เตือนภัยจะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะที่มีความเสี่ยง และภาวะที่มีการเกิดภัยพิบัติ
.
สำหรับความคืบหน้าระบบการเฝ้าระวังและช่องทางการแจ้งเตือนนั้น พบว่า การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้มีการรับมือและอพยพ ผ่านอุปกรณ์การเตือนภัย ประกอบด้วย
.
หอเตือนภัยจำนวน 338 หอ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม จำนวน 163 แห่งติดตั้ง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเขตทั้ง 18 เขต 70 จังหวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด จำนวน 285 แห่ง รับข้อมูลผ่านสัญญาณดาวเทียมและกระจายการแจ้งเตือนด้วยระบบคลื่นวิทยุไปยังหอเตือนภัยขนาดเล็ก จำนวน 674 แห่ง ซึ่งจะส่งถึงหอกระจายข่าวภายในชุมชน และหมู่บ้าน
ประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เปิดเผยว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ข้อ 6 ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย มาตรการ และแผนบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมจัดทำแนวทาง แผนงาน และโครงการต่างๆ ในการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเตือนภัยพิบัติของประเทศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นรองประธาน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 30 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ
โดยในวันนี้เป็นวาระที่คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทeข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เสนอต่อ กภช. โดยเฉพาะการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งจะเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนการบริหารระบบการเตือนภัยของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะมีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและมีแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมดำเนินการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ระบบ Cell Broadcast เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง Cell Broadcast เป็นระบบที่ช่วยให้ทำการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถส่งข้อความตรงถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ช่องทางพิเศษแยกจากช่องสัญญาณปกติ ทำให้มีความเสถียร ไม่เกิดการติดขัดของสัญญาณเครือข่ายและการส่งข้อมูล อีกทั้งมีเสียงการแจ้งเตือนมีรูปแบบเฉพาะ ผู้รับบริการไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรวมถึงมีความปลอดภัยของระบบในการแจ้งเตือนและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งหลาย ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็ได้มีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนเช่นเดียวกัน
โดยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาร่วมขับเคลื่อนการทำงานเพื่อเพิ่มช่องทางการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการบริหารระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศ เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีเอกภาพตามมาตรฐาน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ ไปเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายข้อความและแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Comments