บทความพิเศษโดย ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล
ที่ผ่านมา การศึกษาไทยถูกจับแช่เย็นไว้หนึ่งทศวรรษเต็มๆ ทำให้ตอนนี้ฟื้นยากมาก แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานมากมาย ยังไม่เห็นความสำเร็จใดที่เป็นชิ้นเป็นอันในการพัฒนาเทคโนโลยีและมูลค่าอุตสาหกรรม โดยใช้คุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ที่มีทักษะ (Upskill, Re-skills, and New Skills) อุตสาหกรรมไทยยังล้าหลังและขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเกษตร ยังมีผลิตภาพต่ำ ต้นทุนสูง (ข้าวไทยแพ้เวียดนาม ในการประกวดคุณภาพข้าวโลก) การศึกษา พลังงาน การเมือง ก็เห็นชัดว่าแย่ลง ไม่มีการ ปฏิรูป รัฐธรรมนูญ แนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติล้าหลังจริง
เราติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle income trap) มานานน่าจะเข้าหลายทศวรรษแล้ว แต่ยังไม่เห็นหนทางจะพ้นออกไปได้ ถ้าไม่มีการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ทั้งนี้เพราะคุณภาพการศึกษา ของเรายังไม่ได้มาตรฐาน ลองพิจารณาผลการสอบวัดผลที่เรียกว่า PISA จะเห็นว่า ประเทศที่พัฒนา มีคะแนนการศึกษาดังกล่าวสูงทั้งนั้น และที่น่าสนใจคือผลการสอบ PISA ของเวียดนามดีขึ้นมากในหลายปีมานี้ ซึ่งหมายความว่าหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ต่อไป ประเทศเวียดนามน่าจะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา สู่ประเทศพัฒนา
ความอ่อนแอของระบบการศึกษา เป็นตราบาปของประเทศไทย ภาพพจน์ของความอ่อนด้อย ด้านทักษะของทรัพยากรมนุษย์ เป็นเหตุให้การลงทุนใหม่ๆ ข้ามหัวเราไปลงทุนใน ประเทศเวียดนามที่การศึกษาเข้มแข็ง ประชากรมี ทักษะ และค่าแรงขั้นต่ำวันละ 240 บาท ที่สมเหตุผล
เราเช็คความอ่อนแอของไทย โดยลองถาม ChatGPT ดู ก็จะได้คำตอบอย่างนี้
“ประเทศไทย พึ่งพิง เทคโนโลยี พื้นฐาน (เน้น การใช้แรงงานเข้มข้น ราคาต่ำ) นำมาโดยบรรษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ ส่งผลให้ประเทศไทยติดกับดักการพัฒนา ประชาชน และหน่วยธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยี ใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าในโลก เรียกได้ว่าไทยเป็นประเทศที่ติดกับดัก "กับดักรายได้และเทคโนโลยีระดับกลาง" (Middle-Income Technology Trap, MITT)
เรามีเทคโนโลยีของเราเองไม่ได้เพราะเราไม่มีนวัตกรรม เราไม่มีนวัตกรรมเพราะการวิจัยเราอ่อนด้อยนักวิจัยมือไม่ถึง และการวิจัยเราไม่เข้มแข็งก็เพราะการศึกษาเราอ่อนแอ ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนจาการที่คะแนน PISA ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เราตกต่ำมาก
กับดักนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันในระดับสากล ไม่สามารถก้าวกระโดดในการพัฒนาแข่งขันกับประเทศที่ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าและมีเศรษฐกิจที่มั่งคั่งกว่า เราตกอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ และเทคโนโลยี ระดับกลาง สิ่งที่ CHAT GPT แนะนำประเทศไทยคือรัฐบาลควรวางนโยบายที่กระตุ้นการสร้างความรู้ใหม่ๆ เสริมด้วยเทคโนโลยี และการสร้างความสามารถของการประกอบธุรกิจในประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (higher-value activities)”
สิ่งที่กล่าวข้างต้น คือสิ่งที่ผมได้มีโอกาส สื่อสารผ่านออนไลน์กับท่านอาจารย์ภาวิช (ศาสตราจารย์ พิเศษ เภสัชกร ภาวิช ทองโรจน์ )ผู้ที่ทรงความรู้จริงในการอภิวัฒน์ระบบการศึกษาไทย
ท่านเล่าว่า เมื่อในยุคของรัฐบาล ที่แล้ว (รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ท่านอาจารย์ ภาวิช ทำนโยบายการศึกษาให้กับพรรคพท.ตอนนั้นเราพูดเรื่องนี้กันชัดเจน และเตรียมที่จะเดินไปข้างหน้า ในยุคของรัฐมนตรีคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา และในยุค ของท่านรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง ที่เกิดการ รัฐประหารโดยไม่มีเหตุปัจจัยพอที่อธิบายได้ ช่วงเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการกำลังเริ่มเดินหน้านโยบายการศึกษาใหม่ ท่านเชื่อว่า ถ้าได้มีการประกาศหลักสูตรใหม่ที่ท่านบรรจงร่างตอนนั้น และทำตามแผน จะจุดปฏิกิริยาลูกโซ่ทางการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ โดยเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรไปสู่การพัฒนาครู (เพื่อให้ตอบสนองหลักสูตร) มีกระบวนการผลิตครูแบบบูรณาการกับการพัฒนาโรงเรียนและวิธีการเรียนการสอน โดยอาจใช้ สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ (ที่เสนอให้ตั้ง) เป็นพลังขับเคลื่อน แล้วนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่โรงเรียนทั่วประเทศ หากมองย้อนหลัง ระบบการศึกษาคงจะดีขึ้นมากในปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ภาวิช เคยถามผู้บริหารการศึกษาระดับกระทรวงของสิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และฟินแลนด์ว่าทำอย่างไรผลสอบ PISA ถึงดี ได้รับคำตอบเหมือนกันหมด คือ ไม่เห็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ทำการศึกษาให้ดี สอบเมื่อไรและอย่างไรมันก็ออกมาดีเอง
ปัจจุบันท่านอยู่วงนอกของพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีโอกาสเสนอ แนวคิดที่เคยเสนอ ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ท่านอาจารย์ภาวิชคิดว่าหากเพื่อไทยสามารถ บริหารระบบการศึกษา และการเรียนรู้ ท่านอยากให้บริหารการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) เพื่อจะทำให้ประเทศไทยหลุดจาก กับดักทางการศึกษาที่ไร้คุณภาพ (วัดด้วยคะแนน PISA) เหมือนกับที่ประเทศจีน ตั้งรองนายกหลี่ หลานชิง(มาจาก ภาคอุตสาหกรรม) มาพัฒนาการศึกษาในองค์รวมโดยให้เป็นรองนายกด้านปฏิรูปการศึกษา อยู่ห้าปีไม่ต้องขยับไปไหน ทำเรื่องนี้เรื่องเดียว จนปัจจุบันประเทศจีน นักเรียนสอบ PISA ได้ ของ อันดับ Top ของโลก
ท่านอาจารย์ภาวิช และ นักคิดทางการศึกษารอบๆท่าน ปรึกษาหารือ แม้เข้าใจดีว่า การเมืองไทยปัจจุบัน ที่ใช้การต่อรองตำแหน่งเป็นสรณะ เป็นข้อจำกัดในระบบการเมือง ของการเป็นรัฐบาลผสม แม้ทุกพรรคอาจเจอแรงกดดันของการเมืองภายใน-ภายนอก เพราะต้องเดินตามนโยบายของพรรคที่ประกาศตอนหาเสียง และแม้มีการหลอมรวม นโยบาย แบบหลวมๆ แต่กระนั้น นโยบายการศึกษาของชาติที่มีกระทรวงศึกษาธิการและ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วิจัย ก็น่าจะเป็นข้อยกเว้นและ ถือเป็นภารกิจร่วมของทุกพรรค ในรัฐบาลผสมมากกว่าจะให้พรรคใดๆบริหาร แบบเดี่ยวที่เกือบเป็นอิสระจากเป้าหมายใหญ่ระดับมหภาคของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ความรู้ ทักษะ ด้านต่างๆ ตลอดจน นวัตกรรม เสียเลยที่เดียว
พรรคพท.ยังคลำปัญหาการศึกษาของชาติ ไม่เจอ และยังไม่มีคำตอบประเด็นนโยบายเชิงลึก เช่น นโยบายเรียนดีมีความสุข เรียนไปทำงานไป อันนี้ยังผิวเผิน กว่า การสร้างระบบการศึกษาของชาติ ในอุดมคติ ตามแนวที่พรรคเพื่อไทยเคยวางไว้ ในสมัยนายกยิ่งลักษณ์
ท่านอาจารย์ภาวิช และพวกเราเกรงว่า หากไม่ลงลึกถึงรากของปัญหาการศึกษา เราคาดว่า มันคือการปล่อยประเทศให้ดิ่งลงไป โดยที่รู้ตัวแต่ทำอะไรไม่ได้ และไม่สามารถกู้คืนได้ง่ายในทศวรรษนี้ พวกเราขอเสนอและเรียกร้องให้ นักคิดของเพื่อไทยแปลปรัชญาของโทนี แบลร์ (Tony Blair)อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พลิกฟื้น สหราชอาณาจักร (UK)ท่านกล่าวว่า"วิธีแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือ แก้เรื่องการศึกษา ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลข้าพเจ้านั้นจึงมีเพียงสามข้อ คือ การศึกษา การศึกษา และ การศึกษา"
ในสมัยของท่านนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ประเทศสหราชอาณาจักร มีระดับการศึกษา ที่ได้ คะแนนประเมิน อยู่อันดับ 35 ของโลก (แม้จะสูงกว่าไทยเยอะ) แต่เขาก็ไม่พอใจ และคนแรกที่ไม่พอใจคือ นายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ และจากวันนั้นมา การศึกษาของ สหราชอาณาจักร ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการ เช่น มีการปฏิรูปหลักสูตร ต่อเนื่องมาถึงยุคสมัยของ นายกรัฐมนตรี David Cameron คะแนน PISA ของ สหราชอาณาจักร (UK) จากที่เคยตกต่ำที่ 35 ขยับขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด มาอยู่ที่อันดับรวม 14 แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ต้องทำต่อไป
ท่านอาจารย์ ภาวิชเล่าต่อว่า ในตอนที่เรายกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของเราใหม่ ท่าน ได้รับมอบภาระกิจเป็นประธาน เป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศอังกฤษ กำลังยกร่างหลักสูตรฉบับใหม่ของเขา เพราะเขาก็เล็งเห็นปัญหาการศึกษาของเขาเช่นกันว่า ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรที่ไม่เหมาะสม ซึ่งความเห็นข้อนี้ตรงกันกับเราโดยมิได้นัดหมาย และในการยกร่างนั้น เขา มอบ (Commission) ให้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นคณะผู้ยกร่าง ท่าน อาจารย์ ภาวิช ได้มีโอกาสเดินทางไปคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับคณะของเขา ได้ติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และความรู้ต่างๆ ตลอดเวลาที่ประเทศไทยเรา กำลังยกร่าง จำได้ว่าหลังจากนั้น ยังไม่มีโอกาสได้นำหลักสูตรมาใช้ ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่มีค่าดังกล่าว หายไป หลังการทำรัฐประหาร
ท่านอาจารย์ทะนง โชติสรยุทธ์ นักการศึกษาอีกท่านหนึ่งเสนอว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ควรตระหนักว่า การศึกษาของประเทศไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว ในฐานะพรรคแกนนำ เช่นพรรคเพื่อไทย ควรมีบทบาทชี้นำระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของชาติ ให้มีการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงศึกษา กับกระทรวง อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวตกรรม ตลอดจนกระทรวงเศรษกิจ-สังคม อื่น ฯลฯ และขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานของการสร้างระบบดังกล่าว โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ไม่เฉพาะนักการศึกษา เข้ามาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์หลักของชาติไปสู่การขับเคลื่อน สังคม-เศรษฐกิจ และการเมือง ในระยะสั้น-กลาง-ยาว บนฐานของการเป็น สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
โดยสรุปท่านอาจารย์ ทั้งสอง และกลุ่มนักคิดเห็นว่า พรรคพท. ควรให้ความสำคัญกับการบริหาร การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวิจัยของชาติ โดยทำการขับเคลื่อนผ่าน กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวตกรรม โดยที่อาจมี คณะกรรมการขับเคลื่อน ที่เอาจริงเอาจังกับเป้าหมาย วิธีการ และระบบงบประมาณ
ท่านเหล่านี้เชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นการเป็นประเทศที่ติดกับดัก การเป็นประเทศทีมีรายได้และเทคโนโลยีระดับกลาง (Middle-Income Technology Trap, MITT) ภายในทศวรรษนี้ ได้อย่างแน่นอน
[1] บทความนี้ เรียบเรียง จากการสนทนา ออนไลน์ กับ ท่าน ศาสตราจารย์ พิเศษ เภสัชกร ภาวิช ทองโรจน์
Comments