"สวัสดีแฟนเพจ Facebook กระทรวงอุตสาหกรรม ครับ พบกับผม กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เช่นเคยนะครับกับรายการ "ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์" ซึ่งจะมาพบกับทุกท่านเป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 08.00 น.
สำหรับวันนี้ (18 มีนาคม 2565) ผมจะมาเล่าถึงโครงการ Smart Container for Smart Microgrid Technology ภายใต้การดำเนินโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นการแชร์สมาร์ตกริด จากโซล่าร์เซลล์ จำนวน 600 กิโลวัตต์ไปใช้กับอาคารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโครงการนำร่องสมาร์ตกริดเชื่อมกับตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจรายย่อยรายเล็ก เป็นการแสดงให้เห็นการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ต้องเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างศักยภาพการแข่งขันเวทีโลกด้วย ส่วนรายละเอียดของเนื้อหารายการจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญทุกท่านติดตามได้เลยครับ
มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมเมือง Smart City จากสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งมีวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินโครงการและเป็นศูนย์กลางในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน NA LLNU Smart Grid Techno-logy และ Smart City and Digital Innovation โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเอกชนและชุมชน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยฯ จึงพัฒนาโครงการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรม Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศ ในด้านพลังงานและอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ต้องการความรวดเร็วและเท่าทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบันครับ
สำหรับรูปแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology สู่การขยายผล กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัยเป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน เช่น สำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย และร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโอกาสได้สะดวกมากยิ่งขึ้นครับ
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเอง ต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ รวมถึงการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะต้องตื่นตัวและเตรียมรับมือเมกะเทรนด์และเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต เพื่อก้าวให้ทันโลกในยุคสังคม Next New Normal และต้องลงมือทำเพื่อการเป็นผู้เล่นรายใหม่ของโลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการบริหารจัดการด้วยระบบ Ecosystem เพื่อช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญนั้น มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับความต้องการในการลงทุนใหม่ ๆ เช่น กลุ่ม Startup FinTech และ Climate Tech พร้อมด้วยความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อoภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไปครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ในครั้งนี้ เป็นโครงการต้นแบบการฝึกอบรม การวิจัยพัฒนา และการทำธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จของโครงการจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรสูงมากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายผลไปสู่ธุรกิจในชุมชนของประเทศมากถึง 350,000 ชุมชนเลยทีเดียวครับ นอกจากโครงการนำร่อง Smart Container ยังมีอีกหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นอาคารทรงรวงข้าวและอาคารนวดแผนไทยอัจฉริยะ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอีกด้วย สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณแฟนเพจทุกท่านที่ติดตาม แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้ากับรายการ “ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์” ครับ"
Cr.รายการ "ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์"จากเพจกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารแนวใหม่ ทุกเช้าวันศุกร์
Commentaires