top of page

7 กระทรวงใหญ่ร่วมประกาศMISSION 2023ลดก๊าซเรือนกระจก1ล้านตันCO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

อัปเดตเมื่อ 30 มี.ค. 2565

อุตสาหกรรม-สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 มีพิธีร่วมกล่าวสนับสนุนและประกาศ 'MISSION 2023' การผนึกกำลังเพื่อการบรรลุเป้าหมาย 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด


โดยผู้บริหารจาก 7 กระทรวงใหญ่ ประกอบด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมี นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารระดับสูงของภาคี ร่วมเปิดงานและประกาศ MISSION 2023 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ


โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในพิธีประกาศ MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 2,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ดในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาแบบองค์รวมตามแนวทาง BCG เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวรับกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์รวมถึงการจัดการพลังงานและของเสียในภาคอุตสาหกรรม


“มาตรการทดแทนปูนเม็ด” เป็นหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจในการขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วม ที่ประเทศกำหนด (หรือ NDC) ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงไว้ ที่ร้อยละ 20 - 25 ภายใต้ความตกลงปารีส โดยการบูรณาการความร่วมมือของภาคีร่วมดำเนินการขับเคลื่อน มาตรการทดแทนปูนเม็ด ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถบรรลุเป้าหมายแรกในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2564


ทั้งนี้ ตามที่ทุกท่านได้ทราบแล้วว่าในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะยกระดับการลด ก๊าซเรือนกระจกของประเทศจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608


ดังนั้น การผนึกกำลังจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาร่วมกันขับเคลื่อน ‘MISSION 2023 ที่มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันฯ ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการสนับสนุนนโยบายยกระดับการลด ก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย ยินดีให้ความร่วมมือและยึดมั่นที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนให้บรรลุผลสําเร็จต่อไป



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ เพื่อช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 อย่างชัดเจนว่า “เราไม่มีแผนสำรอง No plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ” โดยสิ่งที่เราทำในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนได้ช่วยกันทำบุญให้กับมวลมนุษยชาติร่วมกัน ซึ่งในบรรดามวลมนุษยชาติจำนวนมากนั้น ก็มีญาติพี่น้องและลูกหลานของเราอยู่ด้วยที่จะได้อยู่อาศัยในโลกที่แสนจะสวยงามใบนี้ หลังจากที่พวกเราล่วงลับไปแล้วในอนาคต


ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการรักษาและต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาภูมิปัญญาอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะสิ่งที่เป็นพระวิสัยทัศน์อันแสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ท่านในเรื่องดังกล่าวที่อยู่ในพระดำริ นั่นคือ ทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ไม่น้อยกว่า 2 วัน และประโยชน์อีกประการหนึ่ง คือ การที่เราสวมใส่ผ้าไทย ทำให้เราไม่ต้องเปิดแอร์อุณหภูมิที่ต่ำมาก ทำให้ลดการใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลการเกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่สนับสนุนเป้าหมายเดียวกันกับพวกเรา ด้วยการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจในพื้นที่จังหวัด ร่วมกันคัดแยกขยะเปียกออกจากถังขยะทั่วไป และรณรงค์การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วยการทำปุ๋ยหมักระบบปิดประจำครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนจำนวน 12 ล้านครัวเรือนที่เป็นเป้าหมายขั้นต่ำในทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทั่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) 5 แสนตันต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 65 ล้านต้น จึงขอใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนให้ผู้บริหารภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันขยายผล ทั้งการสวมใส่ผ้าไทย การคัดแยกขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในครัวเรือน เพื่อสร้างสิ่งทีดีให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นกับประเทศไทย และเกิดขึ้นกับโลกใบเดียวของเรานี้ให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศความร่วมมือในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ดในวันนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการรวมพลังกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้โลกใบนี้อยู่รอด ด้วยการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร หรือ มยผ. ตั้งแต่ มยพ. 1101-1106 โดยกำหนดให้การก่อสร้างต่าง ๆ ต้องใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกหรือซีเมนต์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการก่อสร้าง

“กระทรวงมหาดไทยจะได้เชิญนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดให้การใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นแนวทางการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการทั่วไป เพื่อช่วยในการที่จะลดโลกร้อน ทำให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ววัน และขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันผลักดัน และกลับไปดำเนินการโดยทันที เพื่อให้โลกของเราอยู่คู่กับมนุษยชาติเพื่อลูกหลานของเราอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย


ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้ร่วมกับประชาคมโลก มี 4 ประการ คือ 1) นโยบายภาครัฐและกฎหมายประเภทต่าง ๆ 2) ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 3) การลงทุน และ 4) เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “เราต้องทำให้ได้จริง”

ขณะนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีส่วนเกี่ยวข้องในการลดภาวะโลกร้อนใน 2 สาขา คือ 1) สาขาคมนาคมขนส่ง โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบรางหรือรถไฟ ซึ่งช่วยให้ลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง และ 2) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในสังกัดปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้งาน


"การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาคมนาคมขนส่ง (Transport) กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของคน และการขนส่งสินค้าให้มาใช้ระบบราง หรือรถไฟมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางรางหรือรถไฟจะช่วยให้ประเทศไทยลดการใช้เชื้อเพลิงลง ทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร


และสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) กระทรวงคมนาคมส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จัดเป็นมาตรการหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมให้การสนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน"


กระทรวงคมนาคมจึงมีความยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและปรับปรุงมาใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594-2556 และมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน ASTM C1157 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และในต่างประเทศแถบยุโรปมีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยได้นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคคมนาคมขนส่ง มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “MISSION 2023” ในการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2566 รวมถึงสนองตอบต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้ประเทศไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน


ดร. พิรุณ สัยยะสิทธ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำนักงานนโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ เป็นต้นแบบขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยการเป็นหน่วยประสานการผนึกกำลังจาก 25 พันธมิตร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ด้วยการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมมุ่งมั่นก้าวสู่ความท้าทายใหม่ 'MISSION 2023' กับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ในปี 2566


นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (ICMA) กล่าวว่า 'MISSION 2023' เป็นภารกิจเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อยกระดับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ดด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี 2566 พร้อมกับประกาศความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จากความมุ่งมั่นทำงานจนประสบความสำเร็จสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page