top of page

กทพ.เดินหน้าแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วนดันโครงการทางด่วนชั้นที่2แก้ปัญหาคอขวด-จุดตัด-ทางลง ต้นเหตุปัญหา!

คมนาคม-ขนส่ง

ทางด่วน ด่วนไม่จริง!!!ไม่เพียงผู้ใช้บริการที่ควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่านทางที่อกตรม ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ระดับผู้ว่าการก็รู้สึกปวดใจ ไม่ได้แตกต่างกัน จึงได้หาสาเหตุปัญหา และออกแบบแนวคิดเพื่อกำหนดแผนงานหาทางแก้ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข"ผู้ว่ากทพ.คนปัจจุบัน ฉายา "ฮ่องเต้หน้าด่าน" ที่ได้ฉายานี้มา เพราะไม่ชอบทำงานในห้องแอร์ หากแต่เดินสายรับฟังปัญหาจากพนักงานระดับล่างตามด่านต่างๆ ที่ถือเป็นประตูสัมผัสความเดือดร้อน และเสียงสะท้อนจากประชาชน เพื่อนำมาหาทางแก้ไขในระดับองค์กรต่อไป

เพราะการรับฟัง และเปิดช่องการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีผลกระทบ ถือเป็นหัวใจของการทำโครงการขนาดใหญ่!!!

เช่นเดียวกับวันนี้ กทพ. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง ตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ

ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการ มีรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน

"กทพ. มุ่งหวังให้โครงการนี้ ได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิต ดังวิสัยทัศน์ของ กทพ. ที่ว่า องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Innovation for Better Drive and Better Life"

ทั้งนี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ย้ำว่า ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำถาม ข้อสงสัยของประชาชน องค์กร ที่ช่วยกันร่วมคิดในเวทีนี้ ตนจะให้ที่ปรึกษานำขึ้นเว็บไซต์ และตอบในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ข้อมูลต้องครบถ้วนโปร่งไส เพื่อให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยตรงเป็นผู้พิจารณา กทพ.ไม่มีอำนาจไปสั่งการได้


มีรายงานว่า ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ประสงค์ให้กทพ.เข้าไปรับฟังความคิดเห็นระดับกลุ่มย่อยในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีโอกาสได้เข้าร่วมมากขึ้น และหากสามารถทำได้ในวันหยุด ที่หลายคนทำงานก็จะมีประโยชน์มากขึ้น ขณะหลายคนกังวลเรื่องความปลอดภัยระหว่างก่อสร้างจะป้องกันอย่างไร เพราะก่อสร้างบนแนวทางด่วน รวมทั้งปัญหาจราจรทั้งบนนถนน และซอยโดยรอบฯลฯ

ขณะผู้แทนกรมศิลปกากรแสดงความกังวลเรื่องทางด่วน 2 ชัั้น จะมีผลต่อภูมิทัศน์ของโบราณสถานสำคัญๆ หรือไม่ และความสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่?

"การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ผมถือว่า เป็นหัวใจ ในครั้งต่อไป จะให้ที่ปรึกษาโครงการจัดรับฟังความคิดเห็นในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ตรงกับวันหยุด ทุกท่านจะได้มีโอกาสเข้าร่วมกันมาก ๆ"คือสิ่งที่ผู้ว่ากทพ.กำชับหนักแน่น.


(5ปัญหาใหญ่การจราจรติดขัดบนทางพิเศษ จนนำมาสู่การหาทางออก เพื่อคลีคลายความเดือดร้อนของประชาชน)






ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page