top of page

การรถไฟฯลงนามMOUด้านวิชาการและการวิจัยกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและ22 หน่วยงานภาคียกระดับท่องเที่ยวฯ

ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ ขยายเส้นทางจากเชียงใหม่ –ลำปาง สู่พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางด้านวิชาการและการวิจัย ผ่านทางระบบออนไลน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และหน่วยงานภาคีเครือข่ายพันธมิตร โดยมีนายประสิทธิ์ ถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟฯ รองศาสตราจารย์กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เป็นตัวแทนร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนา ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ – ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและบริการ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไทยแบบสร้างสรรค์และมีคุณค่า และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืน

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย 22 หน่วยงาน ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง, จังหวัดลำพูน, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดแพร่, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดพิษณุโลก, กรมการท่องเที่ยว, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก, ตำรวจภูธรภาค 5, ตำรวจภูธรภาค 6, สำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยงานบริหารและจัดการกองทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ – ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไทยแบบสร้างสรรค์ ให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น ถือเป็นการต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบูรณาการระหว่างการรถไฟฯ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ของการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟให้กับประชาชน ในการเที่ยวเมืองไทยด้วยรถไฟที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และยังไม่เคยเกิดขึ้นในเส้นทางใดมาก่อน โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานบริการแบบ Luxury ด้วยการตกแต่งขบวนรถไฟและห้องโดยสาร ให้สวยงามแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมภาคเหนือ ช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกลิ่นอายและบรรยากาศตลอดการเดินทาง ตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่ได้ให้สำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายเอกรัชกล่าวว่า ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้จัดขบวนรถไฟนำเที่ยวพิเศษเส้นทางภาคเหนือแล้วหลายครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเส้นทางต่างๆ อาทิ ขบวนรถไฟ Lanna Modernization Railroad Travel ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟและย่านเมืองเก่า ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ สักการะจอมเจดีย์แห่งล้านนา รวมถึงจัดขบวนรถท่องเที่ยวรอบปฐมฤกษ์ เชิงพาณิชย์และการทดสอบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว เส้นทางลำปาง - พิษณุโลก นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาของประเทศอีกด้วย

“จากความร่วมมือในครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟในเส้นทางสายเหนือเชิงสร้างสรรค์ ให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติ อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน การกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป”


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page