top of page

การรถไฟฯและคณะแพทยศาสตร์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง จัดกิจกรรม Doctor Train ครั้งที่ 6 ออกตรวจสุขภาพด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมเปิดตัวแอพใหม่ บันทึกประวัติสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



วันที่ 22 เมษายน 2567 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Doctor Train “คนรถไฟสุขภาพดี ชีวิตมีสุข” K-MED and SRT : นวัตกรรมทางการแพทย์ สู่ชุมชนสุขภาวะ ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี


คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ สจล. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการเปิดให้บริการ

ตรวจคัดกรองสุขภาพให้กับบุคลากรการรถไฟฯ ครอบครัว และประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ระหว่างวันที่ 22 - 23 เมษายน 2567 เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาและการให้บริการ สาธารณสุขรูปแบบใหม่อย่างเท่าเทียม


นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟฯ เปิดเผยว่า การรถไฟฯ และคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรม Doctor Train คนรถไฟสุขภาพดี ชีวิตมีสุข โดยคณะอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของประเทศไทย รวมถึง คณะแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร มาให้บริการตรวจสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยคัดกรอง โรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิแพ้ หอบหืด และโรคอายุรกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ ให้กับพนักงาน และลูกจ้างการรถไฟ ฯ ครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไป จำนวนกว่า 500 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ หากมีการตรวจพบโรค ทีมแพทย์จะส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมมือ ให้ทำการรักษาทันที

นายแพทย์อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า คณะแพทยศาสตร์ สจล. เป็นคณะแพทยศาสตร์นานาชาติ ที่มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ที่นอกจากจะมีสมรรถนะทางวิชาชีพแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติแล้วยังมีความสามารถด้านวิจัยและนวัตกรรม ในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์

และคณะต่าง ๆ ของ สจล. ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง High Flow เป็นต้น และได้แจกจ่ายอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยคณะแพทยศาสตร์ และ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเมตาบอลิกซินโดรม ในระบบแอนดรอยด์ นำมาเป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน โดยแอพพลิเคชันนี้ ได้ถูกพัฒนาให้บันทึกประวัติสุขภาพ หรือ OPD การ์ด ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ในการบันทึกสุขภาพประจำวัน เพื่อประเมินและวางแผนด้านสุขภาพ อีกทั้งยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่บันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ อาทิ ประวัติยาที่แพ้ เป็นเสมือนสมุดสุขภาพประจำตัวของแต่ละบุคคล เมื่อเวลาต้องไปพบคุณหมอที่ดูแลรักษาตามนัด หรือต้องไปพบคุณหมอในต่างโรงพยาบาล หรือต่างพื้นที่ ก็สามารถใช้ประโยชน์ในด้านข้อมูลของประวัติการรักษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและลดภาวะเสี่ยงจากการใช้ยาที่ผู้ป่วยแพ้ รวมถึงข้อจำกัดด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ภายในแอปพลิเคชัน ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ร่วมสนุก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายโดยจะเริ่มนำร่องในกลุ่มบุคลากรการรถไฟฯเป็นอันดับแรก และจะพัฒนาเพื่อใช้ในชุมชนอื่นต่อไป


นายเอกรัชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรม Doctor Train นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ปรับปรุงลักษณะการดำเนินชีวิต รวมทั้ง กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพอีกด้วย โดยการรถไฟฯ มุ่งมั่นดำเนินกิจการความรับผิดชอบ ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ตามแนวคิด “รถไฟคู่ชุมชน” ของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญ ในการสร้างโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจรักษาและดูแลสุขภาพให้กับทุกคน ทั้งคนรถไฟ ครอบครัว และพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

ในรอบปีที่ผ่านมา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ การรถไฟฯ และ คณะแพทยศาสตร์

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมมือกันนำคณะแพทย์ลงพื้นที่ออกหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ ชุมพร ลำปาง นครราชสีมา แก่งคอย และอุตรดิตถ์ ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้นกว่า 2,700 คน เป็นคนรถไฟ 1,890 คน และ ประชาชนทั่วไป 810 คน พร้อมทั้ง จะมีการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสื่อสารโต้ตอบกับ Family Care ผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ จะมีการดัดแปลงตู้รถไฟเป็นคลินิกรถไฟเคลื่อนที่ โดยจะพ่วงไปกับขบวนรถในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งภายในตู้รถไฟแบ่งออกเป็น ห้องตรวจ ห้องเอกซเรย์ ห้องคัดกรองและจ่ายยา ห้องประชุมแพทย์ ห้องสำหรับเก็บอาหาร และห้องน้ำ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่อนำมาใช้สำหรับโครงการ Doctor Train

โครงการ Doctor Train นี้ ทั้ง 2 องค์กร คือ การรถไฟฯ และ คณะแพทย์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี

พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่ห่างไกลในการเข้าถึงการรักษาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละโรค ทำให้ทุกคนมีโอกาส ได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเสมอภาค อันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียั่งยืนสืบไป.

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page