top of page

ความจำเป็นที่#ก้าวไกล ต้องตีตราจองตำแหน่ง#ประธานสภาคืออะไร?ไปติดตาม


3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

.

พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน

.

วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

.

ตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับ เท่านั้น เฉลี่ยกฎหมาย 1 ฉบับใช้เวลาในการพิจารณากว่า 310 วัน และในจำนวนกฎหมาย 78 ฉบับที่ผ่าน เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส. ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย ทำให้เกิดสภาวะที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และไม่รองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้ดีเท่าที่ควร

.

กฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับกฎหมายที่ถูกประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ

.

มีกฎหมายที่สภาพิจารณาและถูกปัดตกไปจริงๆ เพียง 45 ฉบับเท่านั้น เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนออีก 355 ฉบับ ถูกปัดตกไปด้วยกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนใดคนหนึ่ง กลับมีอำนาจมากกว่าเจตจำนงของผู้แทนประชาชนที่เหลือ

.

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ

.

วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

.

วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

.

“รัฐสภาโปร่งใส” หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด

.

3.1 ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ให้พี่น้องประชาชนติดตามได้ หรือหากไปไกลกว่านั้น ก็เป็นการรายงานบันทึกการออกเสียงลงมติต่างๆ ของผู้แทนราษฎรทุกคน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามการทำงานของผู้แทนของตนได้อย่างสะดวก ว่าในแต่ละประเด็น ผู้แทนของตนเองได้ลงมติออกเสียงไปอย่างไรบ้าง

.

3.2 ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) ในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นั้นจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

.

3.3 ตั้งสภาเยาวชน หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และกำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน

.

พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง


ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้เขียนบทความและโพสต์ผ่านเฟสบุกส์ส่วนตัว ในชื่อเรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด.

(รายละเอียดแนบ)

“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด


การเมือง คือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

แต่เมื่อดุลกำลังอำนาจยังไม่เพียงพอ การประนีประนอมกันเพื่อรักษาสถานะความเป็นไปได้ของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็น

พรรคก้าวไกลมี ส.ส. 152 คน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมี ส.ส.141 คน

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏในแวดวงการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศเท่าไรนัก

หากพรรคก้าวไกลต้องการเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วยสถานเดียว

หากไม่มีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย ก็ไม่มีทางที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล

สองสามวันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย

ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆไม่ได้!!!

การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว

เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”

เมื่อถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา พรรคก้าวไกลก็ต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน

สภาพการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ระหว่างพรรคการเมือง และการยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่น จะดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลาของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม

ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้?

ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น

โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว

กรณีสมัยที่แล้ว เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะ จำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนประยุทธ์

ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติ ก็ต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง

นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ

กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้

มิพักต้องกล่าวถึง พรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธารสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม

แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้

หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่."


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page