top of page

ตามไปดู...3ท้องถิ่นดิจิทัล"ทน.ยะลา-ทม.พิบูลมังสาหาร อุบล-อบต.ป่าหุ่ง เชียงราย"

ชุมชน -ท้องถิ่น


เมื่อเร็วๆนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล” ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทั่วประเทศ ได้เสนอผลงานอันถือเป็นนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารงานและให้บริการประชาชนในท้องถิ่น โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชน กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร อปท. ในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม


โครงการการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัล” จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่น โดยได้ดำเนินการประกวดมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึง พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง ได้รับความสนใจจากหน่วยงาน อปท. ทั่วประเทศยื่นเอกสารเพื่อนำเสนอผลงาน และได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่โดดเด่น ผ่านการเรียนรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลทั้งสิ้น 4 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ปัญหา หมวดที่ 2 นโยบายและแผน หมวดที่ 3 กระบวนการทำงาน และ หมวดที่ 4 ผลลัพธ์การพัฒนาต่อยอดเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 15 ผลงาน โดยรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยม 3 รางวัล ได้แก่ 1. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ผลงาน YALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน) 2. เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการบริหารจัดการพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วยระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มวอร์รูม ของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และ 3. องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย ผลงาน E-smart pahung และรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 12 รางวัล


รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดโครงการนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในทุกมิติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4 ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจและสนับสนุนบทบาทชุมชนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูง และปรับระบบวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ยกระดับความสามารถหน่วยงานภาครัฐ และขีดความสามารถของบุคลากรภาครัฐเพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศด้านดิจิทัล รวมทั้งการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับบริการภาครัฐ เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การให้บริการที่ตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ด้วยความโปร่งใส ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม


"ผมขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทั้ง 15 หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัล “ท้องถิ่นดิจิทัล” ประจำปี 2565 และขอแสดงความชื่นชมสำหรับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทยอดเยี่ยมทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งจะได้เข้ารับถ้วยรางวัลรัฐบาลดิจิทัล จาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้อง อปท. ทั่วประเทศในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาท้องถิ่นของพวกเรา ให้มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

อนึ่ง เทศบาลนครยะลา ได้รับรางวัล ประเภทยอดเยี่ยม ภายใต้โครงการ YALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน) และได้ร่วมรับรางวัลจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล “ท้องถิ่นดิจิทัล” ประเภทยอดเยี่ยม 3 รางวัล จะได้เข้ารับถ้วยรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 จากท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โครงการ YALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน) เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเมืองกับประชาชน โดยผู้บริหารมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนเทศบาลนครยะลา ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ควบคู่กับการบริหารจัดการเมืองโดยใช้ทรัพยากรของเมืองให้คุ้มค่าและประหยัดที่สุด

เทศบาลนครยะลา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีโครงสร้างขององค์กรในรูปแบบกระจายอำนาจ หน้าที่ ตามภารกิจ โดยอยู่ในลักษณะของสำนักและกอง จึงทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกจัดเก็บในรูปแบบแยกส่วน ที่เป็นอิสระต่อกัน ส่งผลให้ผู้บริหารขาดข้อมูลที่พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการออกนโยบาย ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล รวมถึงประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อสอบถามหรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ดังนั้น เทศบาลนครยะลา จึงได้จัดทำระบบรวมศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริหาร (Mayor Dashboard) และสำหรับประชาชน (Citizen Dashboard) พร้อมทั้งระบบโต้ตอบข้อความอัตโนมัติ (Chatbot) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การบริหารงานและผลการดำเนินงานของเทศบาลนครยะลา ได้ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้ Line OA : @yalacity เมนูข้อมูลเพื่อประชาชน Yala Mobile Application: เทศบาลนครยะลา เมนูข้อมูลเพื่อประชาชน www.yaladashboard.com

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page