ถอดโมเดลจังหวัดสนุก!! “สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร” นายกอิ๊งค์เยี่ยมชม"หว้าโมเดล” ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”
- Close Up Thailand
- 2 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที


รัฐบาลเดินหนายกระดับ “สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร” กลุ่มจังหวัดสนุก สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เผยแผนพัฒนาคมนาคม-สาธารณสุขเต็มรูปแบบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยในปี 2568 รัฐบาลได้ผลักดันเป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว พร้อมปรับรูปแบบเมืองรองการท่องเที่ยวเป็น “เมืองน่าเที่ยว” ทั่วไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัด คือนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและประเพณี เพื่อสร้างซอฟพาวเวอร์ให้ประเทศไทย ชูโรง 3 เทศกาลช่วงออกพรรษา สร้างความคึกคักและความต่อเนื่องด้วยประเพณีอันงดงาม ได้แก่ การยกระดับเทศกาล “ไหลเรือไฟ” สู่มหกรรมเรือไฟโลก นำเสนอคุณค่าวัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก และงานแห่ปราสาทผึ้ง สืบสานวัฒนธรรมที่โดดเด่นจากขี้ผึ้งธรรมชาติ รวมถึงเทศกาลแข่งเรือยาวโบราณ และประเพณีแข่งเรือยาวออกพรรษา เชื่อมสายสัมพันธ์สองฝั่งโขง ไทย - สปป.ลาว นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขในภาคอีสานตอนบน โดยได้อนุมัติจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของชุมชนในภาคอีสานตอนบน และแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของชุมชน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในกลุ่มจังหวัดสนุกให้เดินทางได้สะดวกครบทุกมิติ ทั้งทางอากาศ ทางถนน และทางราง ดังนี้
1. การคมนาคมทางอากาศ เพิ่มเส้นทางการบินมายังท่าอากาศยานนครพนม และสกลนคร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
2. การคมนาคมทางราง ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ระยะทาง 355 กม. ให้เปิดบริการได้ในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3.8 ล้านคนต่อปีและรองรับปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 700,000 ตันต่อปี รวมถึงมีโครงการรถไฟสายใหม่ในอนาคต 3 โครงการ คือ ช่วงอุดรธานี - สกลนคร - นครพนม ระยะทาง 247 กม. ช่วงหนองคาย - บึงกาฬ - นครพนม ระยะทาง 316 กม. ช่วงมุกดาหาร - อำนาจเจริญ - อุบลราชธานี ระยะทาง 173 กม. เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งทางรางของประชาชน นอกจากนั้น ยังมีดำเนินการก่อสร้างศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดนจังหวัดนครพนม ให้เปิดบริการได้ในปี 2568 เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทาง R12 เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนามและจีนตอนใต้ พร้อมทั้งรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางถนนและทางราง ให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้บริการแบบ One Stop Service
3. การคมนาคมทางถนน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการในจังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร รวมถึงมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกกว่า 20 โครงการ เพื่อเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน
“รัฐบาลมีความตั้งใจในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคม และสาธารณสุข เพื่อสร้างความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้ กระจายโอกาส และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง” นายจิรายุย้ำ
โดยเมื่อ 28 เมษายน 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 - 27 เมษายน 2568 เพื่อติดตามการบริหารงานและรับฟังปัญหาในทุกมิติ และจะนำปัญหาในพื้นที่ของแต่ละกระทรวงเข้ามาหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันพรุ่งนี้
นายจิรายุ กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ ณ บึงหนองหาร และการบริหารจัดการน้ำที่สวนสาธารณะดอนเกิน อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของไทย เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่และแหล่งอนุบาลของปลา ทั้งปลาประจำถิ่น และปลาอพยพจากแม่น้ำโขงถือว่าเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพอย่างน้อย 180 ชนิด มีพรรณไม้น้ำและยังเป็นพื้นที่แก้มลิง เป็นแหล่งรองรับน้ำ สำหรับป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมอีกด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะรับฟังแนวทางในการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากบึงหนองหารได้อย่างยั่งยืน ตามแบบวิถีชีวิตของชุมชน โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการดูแลรักษา เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ และสร้างระบบนิเวศให้มีความสมดุล เพื่อประโยชน์ของประชาชนในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน
จากนั้น ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครต่อไปที่จังหวัดนครพนมเพื่อเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ “นาหว้าโมเดล” ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ซึ่งเป็นนโยบายในการต่อยอดศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ เปรียบเสมือน Soft Power สำคัญที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยว และการลงทุนในทุกๆมิติได้
ต่อจากนั้น ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางต่อไปที่ริมแม่น้ำโขง เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม ณ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม เพื่อรับฟังการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดและเรื่องอื่นๆ ในชายแดน โดยนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายและติดตามผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
Comments