top of page

#ผู้ว่านครพนม จับมือภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน”

เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

Sustainable Village

(10 ก.ค. 66) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สู่การขับเคลื่อน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยมี คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)/คณะกรรมการชุมชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็น "หมู่บ้านยั่งยืน" (Sustainable Village) ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนได้สร้างเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างยั่งยืน

“ผมในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ ต้องเป็นผู้นำที่ลุกขึ้นมาทำก่อน ด้วย Passion มุ่งมั่นที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการพัฒนาคุณภาพของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกับนางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ภาคเอกชน ประชาชน และนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ กว่า 200 คน ลงพื้นที่ทำกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี ลงแขกดำนา” ที่บริเวณแปลงนาของนางขันตี สังข์ประเสริฐ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม “ภายใต้โครงการ ผู้ว่าคลายทุกข์ ช่วยเหลือราษฎรเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง" โดยการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชุมชนห่างไกลและดำเนินการสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ คลายทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนได้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือเจือจุนเกษตรกรผู้สูงอายุและด้อยโอกาส มีการดูแลซึ่งและกันของคนในชุมชน เกิดความรักความสามัคคี ช่วยกันพัฒนาชุมชน นำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน Sustainable Village อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวิถีชีวิตพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมไทย ความกตัญญูรู้คุณผู้หลักผู้ใหญ่ ที่นับวันจะเลือนหายไป ให้กลับมาคงอยู่คู่ชุมชน” ผู้ว่าฯ นครพนม กล่าว

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า การจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ลงแขกดำนา ในครั้งนี้ จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ส่งเสริมให้ชาวนาได้มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง โดยได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรและทุกคนได้เข้าใจ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนาให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ตั้งแต่กระบวนการแรกของการทำนา ได้แก่ การเตรียมและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ แทนการใช้สารเคมีที่จะเป็นตัวบ่อนทำลายสุขภาพของชาวนา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นต้นแบบให้ได้มีการขยายผลไปทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดนครพนมต่อไป ทั้งนี้ประเพณีการลงแขกดำนา นับวันจะหาดูได้ยาก เพราะปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่จะทำนาหว่านและมีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลต่าง ๆ มาช่วยในกระบวนการผลิต ซึ่งจากสถิติการเก็บข้อมูลวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปรียบเทียบข้อมูลการทำนาแบบต่าง ๆ พบว่า การทำนาดำให้ผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือนาหยอด ส่วนนาหว่านให้ผลผลิตน้อยที่สุด เนื่องจากต้นข้าวขึ้นไม่เป็นระเบียบ ทำให้บริหารจัดการแปลงนาได้ยาก ต้น รวง และเมล็ดข้าวไม่สม่ำเสมอ เกิดการแย่งอาหารและแข่งกันเจริญเติบโต ทำให้ชาวนาได้ข้าวคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันการทำนาดำต้องใช้ต้นทุนในการผลิตที่สูงจากต้นทุนการจ้างแรงงานดำนาในแต่ละวัน ซึ่งการลงแขกดำนาถือเป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความรักความสามัคคีของคนภายในหมู่บ้าน โดยในระหว่างการลงแขกดำนาอาจจะมีการขับร้องเพลงเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน รวมทั้งการรับประทานอาหารร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้มีการน้อมนำพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ทำแปลงปลูกผักสวนครัวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งส่งเสริมการสานพลัง บวร เสริมสร้างพลังคนในชุมชน นำไปสู่การ Change for good เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวในช่วงท้ายว่า หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของข้าราชการทุกคน คือ การทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข ต้องหมั่นลงพื้นที่ไปติดตามถามไถ่ ไปเยี่ยมเยียน ไปเสนอแนะ ไปให้กำลังใจพี่น้องประชาชนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น ความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ "หมู่บ้านยั่งยืน" (Sustainable Village) ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ “ผู้ว่าคลายทุกข์ ช่วยเหลือราษฎรเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง” ในครั้งนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจ และ Passion ให้ทุกคนในพื้นที่มาร่วมกันค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมให้เพิ่มพูนให้ทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page