top of page

ฝ่ายสิทธิ์ TJA จี้ตรวจสอบกรณีนักข่าวบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ ‘ม็อบ APEC’


วันที่ 18 พ.ย. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้รับรายงานกรณีมีสื่อมวลชนบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน ขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้


กรณีที่หนึ่ง มีคลิปวิดิโอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ใช้โล่กระแทกผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter จนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานสดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชน พร้อมกับสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชน ต่อมา มีรายงานด้วยว่าผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาด และเตะเข้าที่ศีรษะ จนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

คลิปเหตุการณ์กรณีที่หนึ่ง:

The Matter

The Standard

The Reporter

เดลินิวส์

กรณีที่สอง มีคลิปวิดิโอแสดงจังหวะที่ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters กำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้มีการเขวี้ยงวัตถุของแข็งเข้าใส่ใบหน้าของช่างภาพคนดังกล่าว จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา

คลิปเหตุการณ์กรณีที่สอง:

ViralPress

สำหรับกรณีที่หนึ่ง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือรัฐบาล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทุกประเด็น เช่น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลิปที่ปรากฏเป็นข่าว เหมาะสมหรือไม่ เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นไปตามหลักปฏิบัติของหน่วยงานหรือไม่ ฯลฯ และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษหรือดำเนินการอย่างไร และจะมีการชดใช้ความเสียหายต่อนักข่าวที่ถูกกระทำอย่างไรบ้าง

นายธีรนัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 ซึ่งศาลระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้อง ‘...ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน…’ ดังนั้น ตนจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งข้างต้นอีกด้วย

“ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการพิจารณามาตรการในลำดับต่อไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยที่จะตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” นายธีรนัยกล่าว

สำหรับกรณีที่สอง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จำนวนมาก และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการชุมนุมโดยตรง จึงต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ใครเป็นผู้ขว้างปาวัตถุของแข็งในคลิปวิดิโอ มีเจตนาจงใจทำร้ายสื่อมวลชนหรือไม่ และจะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ อย่างไร

นายธีรนัยกล่าวด้วยว่า ภาครัฐต้องชี้แจงทั้งสองกรณีกับสังคมอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ย้ำว่ามาตลอดว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”

ทั้งนี้ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการใช้ความรุนแรง หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายใดก็ตาม สามารถติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ที่อีเมล์ tjareporter@gmail.com (กรุณาเขียนระบุในหัวข้ออีเมลล์ว่า “เรียน ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ”)


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านทวิตเตอร์ ความว่า

.

จาการปะทะกันรอบล่าสุด พบว่า มีผู้ชุมนุมหลายรายถูกยิงด้วย #กระสุนยาง โดยมีอย่างน้อย 2 รายถูกยิงเข้าที่ตาและอาการสาหัส ได้แก่

.


1. พายุ ดาวดิน (ภาพที่ 1 จาก Mob data thailand) ถูกยิงที่ตาข้างขวา

2. ช่างภาพรอยเตอร์ (ภาพที่ 2) ถูกยิงที่ตา โดยหมอทศพรให้สัมภาษณ์ว่าเยื่อตาบุขาด ซึ่งล่าสุดทาง iLaw รายงานว่า ผู้บาดเจ็บรายนี้ไม่ได้ถูกยิง แต่ถูกเศษแก้วจากทางแนวหลังคฝ.ขว้างมา

.

และเวลา 12.33 ที่ ถนนดินสอ เจ้าหน้าที่ คฝ.เข้าปะทะกับผู้ชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 อีกครั้ง โดยผู้ชุมนุมถูกรุมกระทืบและฟาดด้วยกระบอง ฯลฯ จึงทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะเดียวกันมีผู้ถูกจับกุมไปเพิ่มเติมอีกหลายราย 1 ในนั้นคือ ‘บารมี ชัยรัตน์’ แกนนำสมัชชาคนจน ถูกตำรวจควบคุมตัวไป

.

ขณะที่ทวิตเตอร์ The Isann Record ได้รายงานว่า ด่วน ! วรัญญู คงสถิตย์ธรรม หรือบุ๊ค นักข่าวพลเมืองในโครงการ Journalism that Builds Bridges ของ The Isaan Record ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมขณะรายงานสดทาง FB Live ยังไม่ทราบว่า นำตัวไปที่ไหน



“มายด์ ภัสราวลี” จี้ ตำรวจเร่งปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไป ซัด เจ้าหน้าที่รัฐทำเราเจ็บปวดมาก ไม่สามารถให้อภัยได้ ด้านตำรวจนำตู้คอนเทนเนอร์ปิดการจราจร ถนนดินสอ และบริเวณโดยรอบแล้ว ส่วนมวลชนถอนกำลังออก มารวมตัวและเก็บของที่ลายคนเมือง






ด้านพล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2565 กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องในช่วงการประชุมเอเปคว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 เวลาประมาณ 08.50 น. กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ที่ปักหลักชุมนุมลานคนเมือง ยอดผู้ชุมนุมประมาณ 350 คน ได้เคลื่อนขบวนเพื่อเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อการประชุมเอเปค โดยเคลื่อนขบวนฝ่าฝืนข้อกำหนดและเงื่อนไขฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เจรจา แจ้งและประชาสัมพันธ์ผู้ชุมนุมฯ ให้ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมฯ ได้ฝ่าฝืนฯ โดยใช้เคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณถนนดินสอเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ใช้เครื่องเสียงประกาศ เจรจา และแจ้งเตือน กับกลุ่มผู้ชุมนุม ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอม ฝ่าฝืนกฎหมาย และได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ขว้างปาก้อนหิน และสิ่งของ ทำลายรถยนต์กระบะของ ทางราชการเสียหาย มีการใช้กำลังทำร้ายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน


โดยเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ได้มีคำสั่งที่ 115/2565 ลง 17 พ.ย.65 กำหนดเงื่อน คำสั่ง ในการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมฯ โดยมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และได้มีหนังสือแจ้งการปฏิบัติในการชุมนุมสาธารณะให้ ตัวแทนทราบตามประกาศดังกล่าวแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตาม ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องใช้กำลังป้องกันตนเองและทำการจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 10 ราย ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขฯ และกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 นาย ทรัพย์สินเสียหายจำนวนหลายรายการ


โฆษก กอ.ร่วมฯ กล่าวอีกว่า การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยฝ่าฝืนเงื่อนไข คำสั่งเจ้าพนักงานฯ มีการพ่นสเปรย์ขีดเขียน ใช้ก้อนหินและไม้ทำร้ายทุบตี ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่อให้เห็นถึงเจตนาให้เกิดความรุนแรง เกิดความไม่สงบ

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยตามกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง เน้นการเจรจา พูดคุย ทำความเข้าใจทุกฝ่าย หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลัง ได้ใช้กำลังให้น้อยที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนกรณีปรากฎารใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นอุปกรณ์ตามประกาศ สนร. นั้น เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์เพื่อการป้องกันตนเองจากผู้ที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่และเพื่อจะจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ที่ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดเป็นไปตามหลักกฎหมาย ตามยุทธวิธี เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ดูแลความสงบเรียบร้อย

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กำชับให้ตำรวจปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีและ ยึดหลักกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และขอให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงานทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปลอดภัย



Cr.สมาคมนักข่าวฯ-สำนักข่าวราษฎร-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ



ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page