top of page

สุรพงษ์ รชค. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย การรถไฟฯ เดินหน้า Quick Win “คมนาคม ของประชาชน”

เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางรางของประเทศ


วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รับฟังข้อคิดเห็น และมอบนโยบายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมการทำงานของรถจักรพลังงานไฟฟ้า (EV ON TRAIN) รถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ (QSY) และการให้บริการแก่ผู้โดยสารในด้านต่างๆ ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟ แห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร และพนักงานการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาระบบขนส่งทางราง มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งภายหลังจากได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานระบบราง จึงจะเร่งผลักดันเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้นโยบายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เพื่อมุ่งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน อย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นฟันเฟืองหลัก ในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ให้สามารถแข่งขันกับอาณาอารยประเทศได้ ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ Quick win ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้การรถไฟฯ มีการทยอยเปิดเดินรถในพื้นที่ก่อสร้างทางคู่ช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2566 เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางจำนวนมาก ตลอดจนเร่งรัดการก่อสร้างทางคู่ระยะที่1 ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนที่กำหนด

นอกจากนี้ ให้ดำเนินแผน Quick Win ด้านเทคโนโลยี สำหรับดูแลบริการเดินรถ ประกอบด้วย การนำรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ EV on Train มาส่งเสริมการใช้ขนส่งสินค้าเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซล การติดตั้งระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการขนส่งสินค้าของการรถไฟ ในโครงการก่อสร้างทางคู่ รวมถึงการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เนื่องจาก การรถไฟฯ ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีบทบาทสำคัญ ในการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชน โดยมีรถโดยสารในเส้นทางสายต่างๆ กว่า 212 ขบวนต่อวัน การขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ 78 ขบวนต่อวัน ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ผ่านโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตลอดจนยังมีทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ได้อีกมาก จึงมีโอกาสที่จะเติบโต และสร้างประโยชน์ได้อีกมาก ดังนั้น เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้การรถไฟฯ กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ให้มีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่า จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ตลอดจนการให้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามขบวนรถในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการปรับปรุงรถจักรล้อเลื่อนที่มีอยู่ให้มีความพร้อมในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และจัดหารถจากล้อเลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูงมาทดแทนรถเก่าที่มีความชำรุด การส่งเสริมความปลอดภัยด้านการเดินรถโดยการกวดขันพนักงานผู้ปฏิบัติให้เฝ้าระวังเส้นทางเป็นพิเศษกรณีเกิดภัยพิบัติ อีกด้วย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรถไฟฯ อาจติดขัดปัญหาอุปสรรคบางประการ ดังนั้น การเดินทางมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ หรือช่วยแก้ไขให้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องข้อจำกัดบุคคลากร การขาดทุนสะสม การจัดหาหัวรถจักร รถโดยสารรุ่นใหม่ๆ จึงสั่งการให้จัดทำแนวทางการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย พร้อมทำการวิเคราะห์ แข็งจุดอ่อนโอกาสและอุปสรรคในทุกมิติ ทั้ง Core Business , Non Core Business , ผลประกอบการ กำไร ขาดทุน ทางตรงจากผลประกอบการ เพื่อทำให้กิจการรถไฟฯ กลับมาเป็นองค์กรที่มีศักยภาพ ดูแลผู้โดยสารที่มีรายได้น้อย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายได้ นำมาบริหารองค์กร และดึงศักยภาพออกมาให้มากที่สุด ให้กลับมาเป็นองค์กรที่เข้มแข็งอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังขอให้การรถไฟฯ ในการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจด้านคมนาคมการขนส่งทางราง ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดทุน การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้า เพื่อใช้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ โดยปัจจุบันขบวนรถสินค้าที่ให้บริการ 78 ขบวนต่อวัน ในปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้า จำนวน 12.04 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ จำนวน 2,143.11 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางต่อไปจะต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาใช้ระบบขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงการคมนาคมอื่นๆ ตลอดจนเพิ่มบริการรับขนส่งสินค้าหลายประเภทในหลายเส้นทาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ถือว่าเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่ถูกกว่าทางถนน และสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้

2. การอำนวยความสะดวกดูแลการขนส่งเดินทางแก่ผู้โดยสาร ทั้งขบวนรถทางไกลในส่วนของรถเชิงพาณิชย์ และรถโดยสารเชิงสังคม ขบวนรถท่องเที่ยว ตลอดจนให้การรถไฟฯ เข้าไปช่วยดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านรูปแบบรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันขบวนรถที่ให้บริการ 212 ขบวน/วัน แบ่งเป็นขบวนรถไฟทางไกลให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนต่อวัน และขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถนำเที่ยว ที่ให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 62 ขบวนต่อวัน นอกจากนั้น จะเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ให้บริการระหว่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

3. มุ่งลดค่าครองชีพแก่พี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้ขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ดำเนินการปรับลดค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะมีผลหลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ โดยเป้าหมายนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายแก่ประชาชนแล้ว ยังคาดว่าจะกระตุ้นให้มีผู้โดยสารหันมาใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงมากขึ้นจากเฉลี่ย 19,200 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 25,000 คนต่อวัน

4. การแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ - รถยนต์ที่ผิดกฎหมายหรือทางลักผ่าน โดยได้มีนโยบายให้การรถไฟฯ ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาทางลักผ่านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ด้วยการติดตั้งสัญญาณเตือนป้ายจราจร ไฟกะพริบ ป้ายข้อความเตือนทั้งสองด้าน เครื่องหมายจราจรเพื่อสร้างความปลอดภัย พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปจำนวนทางลักผ่านที่ผิดกฎหมาย เพื่อปิดจุดทางลักผ่านต่างๆ รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟ ในการสนับสนุนงบประมาณติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมรับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน ชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมบูรณาการแก้ปัญหาควบคู่กับการลดความเดือดร้อนในการสัญจรของพี่น้องประชาชน พร้อมกับมุ่งส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจร ป้ายสัญลักษณ์เตือน ก่อนข้ามทางผ่านเสมอระดับเพื่อลดอุบัติเหตุจากการสัญจรใช้รถใช้ถนนให้มากที่สุด

5. การเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของการรถไฟฯ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน(ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา - หนองคาย) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านการร่วมทุนกับภาคเอกชนในรูปแบบ (PPP) ตลอดจนจะมีการติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือการศึกษาให้ดำเนินการได้เสร็จสิ้นไว้กว่า หรือเป็นตามแผนที่กำหนดไว้

6. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ เช่น การนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ด้านการเดินรถ หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ Non – Core มาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อหารายได้จากการให้เช่า ผ่านการบริหารจัดการโดยบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟ รับไปดำเนินการ โดยให้นำเสนอแผนการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การส่งมอบรับมอบทรัพย์สิน แผนการตลาด ให้จัดทำ Timeline ให้ชัดเจน

ท้ายนี้ ภายหลังจากการมอบนโยบายดังกล่าว จะมีการติดตามความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยหากเกิดติดปัญหาอะไร ก็จะเข้ามาช่วยดูแลสั่งการให้ เพื่อทำให้การรถไฟฯ กลับมามีความเข้มแข็ง ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกสูงสุดต่อการเดินทางของพี่น้องประชาชน สามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอาเซียนได้

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page