top of page

อ่าน “ภูมิสังคม”ผ่านมุมมองศ.เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย


ภูมิสังคม!!!

"ปัจจัยหลักในการสร้างลักษณะเฉพาะของคนในชาติ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน โดยนักปกครองหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องมีความเข้าใจ “ภูมิสังคม” ต้องคำนึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้น ๆ รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิต รูปแบบการดำรงชีวิต ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้การขับเคลื่อนงาน หรือการพัฒนาใด ๆ ในชุมชน ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปโดยสำเร็จและเกิดความยั่งยืน ซึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทยนั้น ราชการจะคำนึงถึงแต่เพียงความต้องการหรือเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของทางราชการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และเข้าใจประชาชน เมื่อราชการและประชาชนต่างเข้าใจเข้าถึงกันและกันในลักษณะ Two-Way Communication แล้ว จึงจะสามารถร่วมกันพัฒนา


ดังศาสตร์พระราชาที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ได้ ดังเช่น ในภาคธุรกิจเอกชนจะมุ่งเน้นหลัก Customer First หรือลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและพัฒนาองค์กรสอดรับความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่ประทับใจ แต่ราชการมักจะมีวิธีคิดว่า ราชการต้องมาก่อน ประชาชนเป็นลำดับถัดมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงเพื่อสอดรับกับทิศทางการพัฒนาที่เข้ากับบริบทวิถีชีวิตของประชาชนและภูมิสังคมของเมืองหรือพื้นที่นั้น ๆ ทำให้ภาคราชการสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของประชาชน และได้สะท้อน “จิตวิญญาณของความเป็นไทย” ผ่านโครงสร้างสังคม มี 3 ระดับ


คือ 1) ระดับครอบครัว (เรือน/เฮือน) และตระกูล เพราะความกตัญญูรู้คุณและการตอบแทนบุญคุณท่าน ซึ่งภาษาไทยมีชุดคำเรียกความสัมพันธ์ของครอบครัวที่แตกต่างหลากหลายกว่าชาติอื่น พ่อ-แม่ พี่-น้อง ลูก-หลาน ลุง-ป้า น้า-อา ปู่-ย่า ตา-ยาย ความสัมพันธ์ตรงนี้แน่นมาก รวมถึงความเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน สายเลือดเข้มกว่าสายน้ำ คุณธรรมเป็นตัวหล่อหลอมให้เกิดความมั่นคง และความมั่นคงเป็นปัจจัยทำให้เกิดความยั่งยืนยืนยาว “เราต้องช่วยกันทำให้ระบบครอบครัวอบอุ่น สิ่งที่ดีงามของครอบครัวกลับขึ้นมาอีกเหมือนสมัยก่อน” เพราะเมื่อครอบครัวอบอุ่น จะส่งผลให้สภาพสังคมเข้มแข็ง 2) ระดับชุมชน คือ ความมีน้ำใจต่อกันและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องออกแบบบริหารชุมชนให้ทุกคนมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ 3) ระดับเมือง สิ่งที่จะทำให้เมืองมีความมั่นคง คือ ความสามัคคีของคนในเมือง”


คำว่า “ความยั่งยืน” คือ การที่คนในยุคปัจจุบันใช้ทรัพยากรเพื่อความกินดีอยู่ดีของตนเองแล้วเหลือเผื่อแผ่ทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ดีกินดีด้วย ไม่ใช่ทำลายทรัพยากรหมดตั้งแต่ยุคนี้ ด้วยการนำหลักคิดและแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน 3 ประการ มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ 1) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้คนไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ประการที่ 2) SDG 17 ข้อ ที่สหประชาชาติกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วง ค.ศ. 2016-2031 และ 3) ESG 3 ปัจจัยหลักเพื่อความยั่งยืน คือ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) ปัจจัยด้านคนและสังคม (Social factors) และปัจจัยด้านธรรมาภิบาล (Governance factors)


โดยขอให้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” รวมถึงพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ อาทิ “ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทย เป็นสมบัติมีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่เราได้สืบต่อจากบรรพบุรุษ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราดำรงประเทศชาติและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนจะต้องรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคง” และ “การพัฒนานี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทั้งสองอย่าง คือจิตใจที่หวงแหนที่ดินทำกินของเรา หวงแหนพื้นแผ่นดินของเรา และจิตใจที่จะต้องช่วยเหลือกัน เพราะทุกคนเป็นสมาชิกของประเทศคือชาวไทยทุกคน...” มาใช้ในการพัฒนาในระดับพื้นที่ ข้าราชการทุกคนต้อง “ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง แม้ว่าการสร้างคนดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ


ขอให้ถือเป็นหน้าที่” ทำให้ประชาชนเป็น “พึ่งตนเองได้” ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1. พึ่งตนเองด้านจิตใจ คือ มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและส่วนรวม 2. พึ่งตนเองด้านสังคม คือ ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และ 3. พึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องมุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยึดหลักพอ พออยู่ พอกิน พอใช้ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับพื้นฐาน

“หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


ขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาจังหวัด ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560


“การศึกษาต้องมุ่งสร้างอุปนิสัยพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ครอบครัว ชุมชน สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา ความเป็นไทย – วัฒนธรรมไทย 2) มีอุปนิสัยพื้นฐานที่มั่นคง – มีคุณธรรม รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด – ที่ชอบ / ที่ถูก – ที่ผิด ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ – ที่ถูกต้องดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิด – สิ่งที่ชั่ว ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง 3) ทำงานเป็น – มีอาชีพสุจริต พ่อแม่ฝึกฝนอบรมลูกให้รักงาน – สู้งาน ครูอาจารย์ฝึกฝนอบรมลูกศิษย์ให้ทำงานเป็นหมู่คณะ ผู้บังคับบัญชาฝึกฝนอบรมลูกน้องให้มีทักษะความรู้ใหม่ๆ สร้างค่านิยมให้มุ่งสู่อาชีพสุจริต และ 4) เป็นพลเมืองดี “เห็นอะไรจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ – ก็ต้องทำ” ครอบครัว – สถานศึกษา – สถานประกอบการต้องกำหนดนโยบายและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างพลเมืองดี “เราทำความดีด้วยหัวใจ” – มีน้ำใจตัวอย่างกิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล"


ที่มา.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทย” ในการประชุมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference)ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page