top of page

"Bénédicte Épinay"ซีอีโอComité Colbert ฝรั่งเศส ปลื้ม“Sustainable Fashion”เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

Sustainable Fashion

ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในนิทรรศการ “Sustainable Fashion” ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 67 ที่ผานมา. ณ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับคุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert พร้อมด้วย Mr. Laurent Dhennequin ผู้อำนวยการคณะกรรมการ Comité Colbert สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ อัครราชทูต ณ กรุงปารีส และนายณัฐพงศ์ โชติกเสถียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ ในโอกาสเยี่ยมชมนิทรรศการ "Sustainable Fashion" โครงการตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"

โดย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ

โดยภายหลังจากการเยี่ยมชมนิทรรศการ "Sustainable Fashion" โครงการตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" แล้ว คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” นิทรรศการแรกในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าภัณฑารักษ์ โดยทรงเอาพระทัยใส่รายละเอียดในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ด้วยทรงพระดำริที่จะจัดนิทรรศการนี้ให้ออกมางดงามสมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมากที่สุด ซึ่งคณะฯ ได้ชมความงดงามของฉลองพระองค์รวมทั้งการออกแบบเครื่องแต่งกายในแต่ละยุคสมัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบชาวไทยและชาวต่างชาติออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ และได้ชมเบื้องหลังการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เช่น ห้องคลัง ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ เป็นต้น

“นับเป็นโอกาสดีที่ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันต้อนรับคุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert และคณะ ในการเข้าชมนิทรรศการ "Sustainable Fashion" โครงการตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ซึ่งเป็นนิทรรศการสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เกิดจากพระกตเวทิตาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้งนี้ การเยี่ยมชมนิทรรศการฯ ของ Comité Colbert ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เป็นตัวแทนส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ของแบรนด์สำคัญ ๆ ของฝรั่งเศส โดยสมาชิกของ Comité Colbert ประกอบด้วยสมาชิกประเภทเเบรนด์สินค้าชั้นนำ 93 เเบรนด์ สถาบันทางวัฒนธรรม 18 สถาบัน และแบรนด์สินค้าชั้นนำจากประเทศอื่นในยุโรป 6 แบรนด์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนางานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการสนองพระมหากรุณาธิคุณในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณีกิจในด้านการส่งเสริมงานหัตถศิลป์หัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทรงลงมาปฏิบัติภารกิจงานด้านศิลปาชีพและดูแลการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา โดยทรงนำความรู้ด้านผ้าและเครื่องแต่งกายตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาพัฒนาการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้า ฯ ซึ่งพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่รายละเอียดในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้นิทรรศการออกมางดงามสมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากที่สุด สะท้อนผ่านพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของข้าพเจ้า ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพในการถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์พื้นถิ่นตามภูมิปัญญาบรรพบุรุษของขาวนาชาวไร่ จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการสนับสนุนให้เป็นอาชีพเสริมยามว่างเว้นจากฤดูการเกษตร โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์เครื่องจักสาน ที่นำวัสดุพื้นบ้านมาสร้างสรรค์ให้เป็นงานหัตถศิลป์ชิ้นงาม พระองค์ได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกฝนการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องจักสานไทยอันทรงคุณค่าที่จัดเป็นมรดกของชาติมิให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลา”

.

“ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตระหนักว่าในยุคปัจจุบันงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่าได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ทำให้งานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่าของชาติมีบทบาทลดน้อยลง ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่จัดเป็นความคิดทางสังคมได้ถูกละเลย สะท้อนผ่านใจความตอนหนึ่งของพระนิพนธ์คำนำในหนังสือตามแนวพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก และ Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน “เครื่องสานไทย : Wicker Wonder” ความว่า “ภูมิปัญญาเครื่องจักสานไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นเครื่องบ่งชี้เอกลักษณ์และเป็นเครื่องชี้วัดความเจริญและพัฒนาการของชาติ เพราะภูมิปัญญานี้เป็นสิ่งละเอียดอ่อน มีเพียงแต่ชาติที่เจริญแล้ว มีสังคมที่เป็นอิสระและสงบสุขร่มเย็นเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างสรรค์และสั่งสมภูมิปัญญาเฉพาะตนขึ้นมาได้” ทั้งนี้ เครื่องจักสาน เป็นงานหัตถกรรมที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากการสั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน สะท้อนองค์ความรู้ ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ด้วยการนำทรัพยากรทางธรรมชาติใกล้ตัวมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เริ่มจากกระบวนการที่เรียบง่ายสู่ความละเอียดประณีต อาทิ ภูมิปัญญาการสานเชือกกล้วย การสานเส้นใยตาลโตนด การสานเสื่อกระจูด การสานเสื่อต้นแหย่ง การสานย่านลิเภา การสานไม้ไผ่ การสานต้นกก การสานใบตาล การสานเส้นใยผักตบชวา การสานหวาย และการสานใบลาน ซึ่งล้วนสะท้อนคุณค่าทั้งทางด้านความงดงามในเชิงศิลปะและประโยชน์ใช้สอย สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนถึงระดับประเทศ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

.

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า “Sustainable Fashion” ด้วยการพระราชทานพระดำริให้กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมกับคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกเพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้นำองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จักสานสู่เชิงพาณิชย์จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วมที่สามารถสร้างพลังสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพราะงานจักสานไทยผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยทุกผลงานของผู้ประกอบการอันเกิดจากแนวพระดำริที่ได้นำมาจัดแสดงในวันนี้ล้วนได้รับเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นเครื่องหมายที่ทรงออกแบบเครื่องหมายเป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทางแห่งการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย และยังหมายถึง Sustainable คือ แนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ ที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร ทรงออกแบบ ให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึงแนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้า และงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

“กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตราชกัญญา ขยายผลขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญา “เครื่องจักสานไทย” ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน จึงได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชุมชนจักสานสู่ตลาดสากล ภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจักสานให้กับพี่น้องประชาชน มีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก และได้รับการอนุเคราะห์สนับสนุนจากคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริฯ ที่ประกอบด้วย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มาร่วมพัฒนาวิธีการผลิตชิ้นงานจักสาน ทั้งเทคนิคการสาน การย้อมสี การขึ้นรูป และการประกอบรูปทรงที่แตกต่างในงานหัตถกรรมจักสาน ผสมผสานกับแนวคิดและวิธีการผลิตของศิลปินท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์งานจักสานไทยที่ร่วมสมัย ตรงใจกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างหัตถกรรมและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของงานหัตถกรรมไทยที่มีต่อวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพระกรุณาคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ที่พวกเราทุกคนขอน้อมนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนตลอดไป” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน คุณ Bénédicte Épinay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Comité Colbert ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมประเทศไทย อาทิ “ความท้าทายในการเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย” ด้วยการค้นหาความเชี่ยวชาญในพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าและต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ประกอบการ” ในการทำให้สินค้าหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยสามารถรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐาน เพื่อคงไว้ซึ่งสถานะของการเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ตลอดไป “การรักษาคุณภาพของสินค้าให้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดเท่านั้น” และ “การพัฒนามาตรฐานให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ด้วยการพัฒนาเทคนิคการผลิตตามการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่หนึ่งตลอดไป

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page