top of page

"ถ้าท่านคิดว่าคำว่า"โง่"เป็นการหยอกเย้าผมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหยอกท่านแบบนี้บ้าง ได้หรือไม่?


ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล ยังคาใจปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่ระบุว่า "คำว่า โง่ ไม่ได้เหยียด เป็นการหยอกเย้ากัน คน มท. (มหาดไทย) รู้กัน ..." ถ้าเขาชี้แจงอย่างนี้จริง ก็แสดงว่าสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย น่าเป็นห่วงมากมาก


โดยได้โพสต์ผ่านเพจส่วนตัวว่า


ถ้าตอบอย่างนี้จริง แสดงว่ากระทรวงมหาดไทย น่าเป็นห่วงมาก ]

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การชี้แจงของ #ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ Suttipong Juljarern ที่ระบุว่า "คำว่า โง่ ไม่ได้เหยียด เป็นการหยอกเย้ากัน คน มท. (มหาดไทย) รู้กัน ..." ถ้าเขาชี้แจงอย่างนี้จริง ก็แสดงว่าสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย น่าเป็นห่วงมาก

.

1. คำว่า "โง่" ไม่ได้เป็นคำสามัญที่ใช้พูดกับใครก็ได้นะครับ แต่เป็นคำเหยียดที่ใช้กดขี่ ดูถูกผู้อื่นชัดๆ ถ้ากระทรวงมหาดไทยมีมุมมองว่าคำๆ นี้ เป็นคำพูดปกติ ที่ใช้หยอกเย้ากันทั่วไปได้ แสดงว่ากระทรวงมหาดไทยมีปัญหาเชิงวัฒนธรรมแล้วครับ แต่จากการที่ผมโทรไปสอบถามข้าราชการทั้งที่อยู่ในจังหวัด และกรมกองต่างๆ ไม่มีใครคิดว่าเป็นเป็นการหยอกเย้าเลยนะครับ คือ น่าจะเป็นพฤติกรรมกักขฬะเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มมากกว่า ดังนั้นการเหมารวมว่า คนมหาดไทยรู้กัน ข้อเท็จจริง คือ ไม่มีใครเขารู้กันกับท่านครับ ท่านเหมารวมว่าเป็นเรื่องปกติของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ การเหมารวมแบบนี้ทำให้กระทรวงมหาดไทยเสียหายอย่างมากเลยนะครับ

.

2. การที่ระบุว่า "คน มท. รู้กัน" อันนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะสะท้อนว่าคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ได้มีเฉพาะท่านคนเดียว ต้องมีอีกหลายคนที่พูดจาดูหมิ่นลูกน้องแบบนี้ และที่น่ากลัว ก็คือ คนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นความผิด กลับมองว่าเป็นการหยอกเย้า ที่ผู้บังคับบัญชาทำกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ กรณีนี้จึงมีความจำเป็นต้องขยายวงสอบ ว่ามีข้าราชการระดับสูงคนใด มีพฤติกรรมเช่นนี้อีกหรือไม่ และ รมว.มหาดไทย จะต้องเร่งซักซ้อมภายในกระทรวงเสียใหม่ว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป ห้ามมิให้ข้าราชการคนใด มีพฤติกรรมเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ร่วมงานแบบนี้อีก ใครฝ่าฝืนจะต้องรับโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าท่านคิดว่า คำว่า "โง่" เป็นการหยอกเย้า ผมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหยอกท่านแบบนี้บ้าง ได้หรือไม่ ท่านลองคิดดูเองนะครับ

.

ถ้าท่านชี้แจงอย่างนี้จริง ผมแนะนำว่าอย่าชี้แจงจะดีกว่าครับ ยิ่งชี้แจง ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับกระทรวงมหาดไทย ยิ่งทำให้ข้าราชการรู้สึกท้อแท้ อิดหนาระอาใจ

.

รมว.มหาดไทย อาจจะไม่ปลดท่านออกจากตำแหน่ง ก็จริง แต่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจำนวนมาก ได้ปลดท่านออกจากหัวใจของพวกเขาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

.

ขอบอกไว้เลยว่า ถ้าผมเป็น รมว.มหาดไทย ป่านนี้ผมประสานนายกฯ เซ็นย้ายท่านไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกฯ แล้ว..."


และต่อมายังโพสต์เรื่อง

6 เรื่องแย่ๆ ที่หัวหน้างานดีๆ เขาไม่ทำกัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. เอาแต่งาน แต่ไม่สนใจคุณภาพชีวิตของลูกน้อง

.

หัวหน้างานที่ดี จะต้องใส่ใจทั้งเป้าหมายของงาน และคุณภาพชีวิตของลูกน้องอย่างควบคู่กัน ไม่ใช่มุ่งแต่ทำให้งานบรรลุเป้าหมายอย่างเดียว คิดแต่จะทำให้ KPI ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย หรือผลประกอบการเป็นไปตามเป้าก็พอ ลูกน้องจะมีความเป็นอยู่อย่างไรไม่เคยสนใจ ลองคิดดูนะครับ บริษัทที่มียอดขาย และกำไรเติบโตดีมาก แต่พนักงานที่ทำงานกับบริษัทกลับมีเงินเดือนต่ำกว่าตลาด มีหนี้มีสินล้นพ้นตัว ทำงานมาเป็นสิบปี ก็ยังไม่สามารถที่จะวางแผนซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนการศึกษาให้กับลูก ฯลฯ บริษัทที่อยู่ในสภาวะเอาเปรียบพนักงานแบบนี้ พนักงานจะขาดแรงจูงใจที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัท ขาดการมีส่วนร่วมกับบริษัท หากวันใดบริษัทต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายอย่างมาก หรือประสบกับปัญหาวิกฤติผู้นำ บริษัทก็ยากที่จะปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤติได้ ดังนั้นหัวหน้างานที่ดี จะใส่ใจแต่เป้าหมายของงานอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคอยติดตามคุณภาพชีวิตของลูกน้องด้วย ว่าลูกน้องในทีมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามการเติบโตของบริษัทหรือไม่ บริษัทร่ำรวยขึ้น ลูกน้องก็ต้องมีชีวิตที่มั่นคงขึ้นสอดคล้องกัน องค์กรที่เกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรมแบบนี้ จึงจะเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน

.

2. ไม่ได้ทำให้ลูกน้องได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากงานที่ทำเลย

.

การทำงานที่ดี เมื่อผ่านไปปีหนึ่งๆ ทั้งคนที่เป็นหัวหน้า จะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ในปีนี้ลูกน้องของตนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม มีอะไรที่เขาเก่งขึ้น มีทักษะใหม่ๆ อะไรเพิ่มขึ้น ถ้าหัวหน้าตอบในจุดนี้ไม่ได้ ก็แสดงว่า หัวหน้าไม่สามารถทำให้ลูกน้องของตน เก่งขึ้นได้เลย มีแต่ใช้ให้เขาทำงาน แต่ไม่สามารถมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้แก่เขาได้ นอกจากนี้การที่ลูกน้องไม่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการทำงาน อันที่จริงมันก็เป็นการสะท้อนว่า ตัวหัวหน้าเอง ก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากงานเช่นกัน หัวหน้าที่เป็นอย่างนี้หลายคนไม่รู้ตัวเองนะครับ แทนที่จะโทษตัวเอง กลับไปด่าว่าลูกน้องว่า “โง่ ขาดสติปัญญา” ซึ่งการด่าลูกน้องแบบนี้ ก็ไม่ต่างจาการด่าตัวเอง หัวหน้างานแบบนี้มีแต่ะจะทำให้องค์กรดักดาน ขาดการพัฒนาครับ

.

3. ตำหนิลูกน้องในที่สาธารณะ

.

หัวหน้าสามารถติติงลูกน้องได้นะครับ แต่ควรติติงกันในพื้นที่ส่วนตัวระหว่างหัวหน้า และลูกน้องเท่านั้น ไม่ใช่ไปด่าลูกน้องโชว์ในพื้นที่สาธารณะ การพูดคุยระหว่างหัวหน้า และลูกน้องเป็นการส่วนตัว เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และจะทำให้หัวหน้าได้ซักถามถึงรายละเอียดของปัญหาจากลูกน้องอย่างครบถ้วน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้อธิบายถึงเหตุผลต่างๆ ด้วย หลายครั้งพอหัวหน้าได้รับฟังคำชี้แจงจากลูกน้องแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น จากที่เคยโกรธก็จะคลายอคติลง หรือบางครั้งที่เคยโกรธก็หายโกรธ เพราะเป็นการเข้าใจผิดกันก็มี การด่าประจานลูกน้องในที่สาธารณะมีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์เลยครับ นอกจากลูกน้องจะไม่มีความนับถือแล้ว คนที่ฟังอยู่ก็จะนึกประณามคนที่เป็นหัวหน้าอยู่ในใจอีกด้วย ยิ่งถ้าเรื่องที่ด่า เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ออกตัวล้อฟรี หากลูกน้องชี้แจงสวนในที่ประชุม ก็จะยิ่งจำทำให้หัวหน้าเสียผู้เสียคนเลยได้ หรือต่อให้ลูกน้องเงียบกริบ แต่คนที่ฟังอยู่เขาก็รู้ครับว่า หัวหน้ากำลังปล่อยไก่ตัวเบ้อเริ่ม เขาก็จะนึกดูถูกหัวหน้าอยู่ในใจ มองยังไงการด่าลูกน้องในที่สาธารณะ ก็มีแต่ข้อเสีย ไม่มีข้อดีเลยครับ

.

4. เลือกปฏิบัติกับลูกน้อง

.

การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกปฏิบัติกับลูกน้อง เช่น ใครจบมาจากสถาบันการศึกษาเดียวกับหัวหน้า หรืออยู่ในกลุ่มก๊วนเดียวกันกับหัวหน้า ก็จะได้รับการดูแลจากหัวหน้าเป็นพิเศษ มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ดีกว่าคนที่จบจากต่างสถาบัน หรืออยู่นอกก๊วน องค์กรไหนที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เล่นพรรคเล่นพวกแบบนี้ การบริหารงานจะมีแต่ความล้มเหลว เพราะแทนที่ลูกน้องจะตั้งใจทำงาน เพื่อใช้ผลงานเป็นกลไกในการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ลูกน้องจะเอาเวลาไปวิ่งเต้นหาพวก สร้างกลุ่มสร้างมุ้ง ใช้เส้นใช้สายในการไต่เต้า จนไม่เป็นอันทำการทำงาน คนที่มีพรรคมีพวก ต่อให้ไม่มีผลงานอะไรก็ยังมีโอกาสเติบโต คนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่มีรุ่น ต่อให้ตั้งใจทำงานแทบตายอย่างไร ก็ไม่มีใครเห็นค่า องค์กรแบบนี้ไม่มีทางเจริญได้เลยครับ มีแต่จะล้าหลังรอวันล่มสลาย

.

5. เอาแต่ด่าเสียดสี เหยียดหยามศักดิ์ศรีลูกน้อง

.

ในกรณีที่ลูกน้องมีพฤติกรรมในการทำงานที่ไม่ดี หรือมีความบกพร่องในหน้าที่ หัวหน้าตำหนิติติงได้นะครับ แต่ต้องติติงโดยใช้คำพูดที่ให้เกียรติ เจาะจงไปที่เนื้องานว่าบกพร่องตรงไหน พฤติกรรมอะไรที่ลูกน้องไม่สมควรทำ พร้อมกับแนะนำแนวทางในการแก้ไข และปรับปรุง ให้กับลูกน้องรับทราบ การติติงที่สร้างสรรค์แบบนี้ จะทำให้ลูกน้องพัฒนาขึ้น แต่สิ่งที่หัวหน้าที่ไม่ดีชอบทำ ก็คือ การด่าเสียดสี และเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของลูกน้อง ดูแคลนวุฒิการศึกษา เสียดสีที่ชาติกำเนิด เอาเรื่องส่วนตัวมาบูลลี่ การด่าแบบนี้ไม่มีทางทำให้ลูกน้องทำงานได้ดีขึ้นเลยครับ มีแต่จะกดขี่ทำให้ลูกน้องรู้สึกคับแค้นใจเพิ่มมากขึ้น บ่มเพาะค่านิยมที่ไม่ดีให้กับองค์กร

.

6. ใช้อำนาจในการบีบบับคับให้ลูกน้องต้องจำยอมทำงานรับใช้นอกหน้าที่

.

หัวหน้าที่ดีจะต้องใช้งาน หรือมอบหมายงานให้ลูกน้องปฏิบัติงานตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช้งานลูกน้องในเรื่องส่วนตัว เช่น ใช้ลูกน้องทำงานส่วนตัว ใช้ลูกน้องไปซื้อข้าวปลาอาหารให้ สั่งให้ไปรับลูกทื่โรงเรียนให้ ฯลฯ หัวหน้าต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ลูกน้องไม่ใช่ทาส และคนที่จ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้อง คือ บริษัท ไม่ใช่หัวหน้า ยิ่งพฤติกรรมที่เป็นการรีดไถเบียดบังลูกน้อง เช่น การบังคับ หรือกึ่งบังคับให้ลูกน้องมาซื้อสินค้าที่ตนเองขาย การขอความร่วมมือแต่จริงๆ แล้วเป็นการใช้อำนาจกลายๆ ในการขู่บังคับให้ลูกน้องต้องเสียเงินเสียทองเพื่อทำให้หัวหน้าได้หน้าได้ตา ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้องานเลย เช่น การบังคับให้ลูกน้องเช่าบูชาวัตถุมงคล การบังคับให้ลูกน้องซื้อบัตรสอยดาว ฯลฯ พฤติกรรมแบบนี้ ไม่ใช่การบังคับบัญชา แต่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ขูดรีด เอาเปรียบลูกน้อง ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมที่หัวหน้างานพึงกระทำครับ


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page