top of page

เมื่อ"ตัวประกันทางการทูต"อังกฤษ ถูกปล่อยแลกกับจ่ายหนี้ค้าง1.76หมื่นล้านเมื่อ40ปีก่อน

ทางการอิหร่านปล่อยตัวนางนาซานิน ซาการี-แรตคลิฟฟ์ และนายอานูเชห์ อาชูรี พลเมืองสหราชอาณาจักรที่ถูกอิหร่านควบคุมตัวในคดีด้านความมั่นคงมานานร่วม 6 ปี


นางซาการี-แรตคลิฟฟ์ ถูกจับกุมในข้อหาโค่นล้มรัฐบาลอิหร่านในเดือน เม.ย. 2016 หลังพาลูกสาววัยเตาะแตะไปเยี่ยมตายายที่กรุงเตหะราน ในขณะนั้นเธอทำงานเป็นผู้จัดการโครงการที่มูลนิธิ ทอมป์สัน รอยเตอร์ และก่อนหน้านี้เคยทำงานให้ บีบีซี มีเดีย แอ็คชัน ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของบีบีซี


ส่วนนายอาชูรี อดีตวิศวกรโยธาวัย 67 ปี ถูกจับกุมในข้อหาเป็นสายลับ เมื่อปี 2017 ขณะเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวในอิหร่าน


ทั้งคู่ซึ่งถือทั้งสัญชาติอังกฤษและอิหร่าน ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การจับกุมพวกเขาอย่างสิ้นเชิง

เกิดอะไรขึ้น


นับแต่ถูกจับกุม ทางการสหราชอาณาจักรพยายามเจรจากับทางการอิหร่านให้ปล่อยตัวพวกเขาเรื่อยมา แต่ก็ไม่เป็นผล แล้วเหตุใดทั้งคู่จึงเพิ่งจะได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ พร้อมด้วยนายโมราด ตาห์บาซ พลเมืองสหราชอาณาจักรอีกคนที่ได้รับอนุญาตให้พักโทษคุมขังในเรือนจำเป็นการชั่วคราว และยังคงอยู่ในอิหร่าน


คำตอบง่าย ๆ ของเรื่องนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและอิหร่านดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps หรือ IRGC) และฝ่ายตุลาการของอิหร่านรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้พวกเขา โดยเฉพาะนางซาการี-แรตคลิฟฟ์ เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป


ที่ผ่านมา นางซาการี-แรตคลิฟฟ์ วัย 43 ปี ถูกมองว่าเป็น "ตัวประกันทางการทูต" ที่รัฐบาลอิหร่านคุมตัวไว้เพื่อกดดันรัฐบาลสหราชอาณาจักร


หากรัฐบาลอิหร่านต้องการแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็จะปฏิบัติต่อนางซาการี-แรตคลิฟฟ์ เป็นอย่างดี เช่น ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ เพิ่มเวลาเยี่ยม หรือให้พักจากการถูกคุมขังในเรือนจำ แต่หากรัฐบาลอิหร่านต้องการเพิ่มแรงกดดันก็อาจเพิกถอนสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของเธอ และทำให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายลง


จ่ายหนี้ยุคพระเจ้าชาห์


อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทั้งสองได้รับอิสรภาพก็คือ การที่สหราชอาณาจักรยอมจ่ายหนี้มูลค่าประมาณ 400 ล้านปอนด์ (ราว 17,600 ล้านบาท) ที่ค้างชำระต่ออิหร่านในช่วงทศวรรษที่ 1970


ในตอนนั้น พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่นิยมชาติตะวันตกได้สั่งซื้อรถถังชีฟเทน (Chieftain) 1,500 คัน และยานยนต์หุ้มเกราะอีก 250 คันจากสหราชอาณาจักรเป็นเงินมูลค่า 650 ล้านปอนด์ และได้จ่ายเงินทั้งหมดให้ทางการสหราชอาณาจักร แต่การส่งมอบรถถังทำไปได้เพียง 185 คัน ก็เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในปี 1979 และทำให้พระเจ้าชาห์ถูกโค่นจากอำนาจ ส่งผลให้สหราชอาณาจักรยกเลิกคำสั่งซื้อดังกล่าว


รัฐบาลอิหร่านพยายามทวงเงินค่ารถถังที่ยังไม่ได้ส่งมอบนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหราชอาณาจักรต่อหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce หรือ ICC) ซึ่งพิจารณาคดีพิพาทด้านการค้าระหว่างประเทศ


ในท้ายที่สุด ICC ตัดสินให้อิหร่านเป็นฝ่านชนะ และสหราชอาณาจักรตกลงที่จะจ่ายเงิน 328.5 ล้านปอนด์ให้อิหร่าน แต่การที่สหภาพยุโรปดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในปี 2008 ก็ทำให้การชำระหนี้ของสหราชอาณาจักรไม่สามารถทำได้


รัฐบาลสหราชอาณาจักรยอมรับว่ามีหนี้ค้างชำระอิหร่านจากกรณีดังกล่าว แต่ระบุว่าไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ ในขณะที่อิหร่านกำลังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า สหรัฐฯ อาจดำเนินมาตรการลงโทษต่อสถาบันการเงินของอังกฤษที่โอนเงินให้กระทรวงกลาโหมอิหร่าน ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ


เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนางซาการี-แรตคลิฟฟ์อย่างไร


นางซาการี-แรตคลิฟฟ์ ระบุว่า ได้รับการบอกกล่าวจากเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวเธอว่า การสั่งจำคุกเธอเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าวให้อิหร่าน

นายเจเรมี ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุในปี 2021 ว่าอิหร่านเชื่อมโยงกรณีของเธอเข้ากับหนี้ค้างชำระดังกล่าว


เขากล่าวว่า "ผมคิดว่าพวกเขา [อิหร่าน] พยายามใช้เรื่องนี้เพื่อต่อรองเรื่องหนี้รถถังชีฟเทนในอดีต..."

อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรไม่ต้องการเชื่อมโยงเรื่องการชำระหนี้และการปล่อยตัวพลเมืองเข้าด้วยกัน เพราะไม่ต้องการส่งเสริมการทูตที่เจรจาโดยใช้ตัวประกัน และต้องการปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย


ที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับว่า การคุมขังนางซาการี-แรตคลิฟฟ์ หรือพลเมืองสหราชอาณาจักรคนอื่น ๆ ในอิหร่านเกี่ยวข้องกับหนี้ค้างชำระดังกล่าว

คดีนี้คลี่คลายลงได้อย่างไร


ที่ผ่านมา นายริชาร์ด แรตคลิฟฟ์ สามีนักบัญชีชาวอังกฤษของนางซาการี-แรตคลิฟฟ์ พยายามวิ่งเต้นและกดดันให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรช่วยภรรยาให้ได้รับการปล่อยตัว


นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เผยว่าใช้เวลาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเรื่องการปล่อยตัวพลเมืองสหราชอาณาจักร


นางทรัสส์ ประกาศว่า การตกลงเรื่องชำระหนี้ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้ พร้อมอธิบายว่ากระบวนการชำระหนี้เป็นไปตามข้อกำหนดการคว่ำบาตรอิหร่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน กฎเกณฑ์ทางการเงินว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย และการต่อต้านการฟอกเงิน


หลายฝ่ายมองว่า เรื่องนี้คลี่คลายได้เพราะในที่สุดคนในรัฐบาลอิหร่านเริ่มตระหนักแล้วว่าการคงความสัมพันธ์ที่เป็นศัตรูกับสหราชอาณาจักรจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศ


นี่อาจมีผลโดยตรงต่อการเจรจาที่กำลังมีขึ้นในกรุงเวียนนาของออสเตรีย เพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงจำกัดกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่ออิหร่าน

เรื่องนี้จะนำไปสู่อะไร

เศรษฐกิจอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ และชัดเจนว่าอิหร่านต้องการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหราชอาณาจักรก็อาจช่วยในเรื่องนี้

แม้จะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่กันได้ แต่บรรดานักการทูตระบุว่าการบรรลุข้อตกลงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


นอกจากนี้ สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ทำให้ทั้งอังกฤษและอิหร่านมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันยิ่งขึ้น เพราะหากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อิหร่านก็จะสามารถขายน้ำมันได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง


นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองประเทศต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อบรรลุผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของชาติ


Cr.BBC-REUTERS

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page